จากปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น รัฐบาลไทยได้ร่วมกันแก้ไขปัญหามาโดยตลอด พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมลดโลกร้อนต่างๆ แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งมันคือปัญหาระดับโลก เพราะสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมในใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ จำเป็นที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.65 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 19.00 น. (ของประเทศไทย) มีการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 2 มี.ค.65 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening Actions for Nature to Achieve the Sustainable Development Goals” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศเข้าร่วม พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่ากากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้วแทนจากประเทศไทย เพื่อบรรลุข้อตกลงและข้อมติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติก End Plastic Pollution : Towards an inter national legally binding instrument ในเวทีระดับโลก ประกอบด้วย
1.ขอบเขตของมาตรการทางกฎหมายจะครอบคลุมมลพิษจากพลาสติกและไมโครพลาสติก ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและจัดการตลอดวัฏจักรชีวิตของพลาสติกตั้งแต่การผลิต การบริโภคและการออกแบบเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตซ้ำหรือรีไซเคิล รวมถึงการป้องกันและการบำบัดของเสีย
2.ส่งเสริมแผนปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อป้องกัน ลดและแก้ไขมลพิษพลาสติกภายใต้การดำเนินงานของแต่ละประเทศสมาชิก รวมทั้งติดตามและรายงานความก้าวหน้าในระดับชาติและระดับนานาชาติในการดำเนินการตามข้อตกลง ให้มีการประเมินทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมรวมถึงติดตามและรายงานมลพิษพลาสติกในสิ่งแวดล้อม
3.กรอบเวลาการจัดทำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ การจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ah-hoc open-ended working group : OEWG) เพื่อเตรียมงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (INC) ภายใน 6 เดือนแรกของปี 2565 และการกำหนดจัดการประชุม INC ครั้งแรกภายใน 6 เดือนหลังของปี 2565 และพัฒนาข้อตกลงระหว่างประเทศในการป้องกันมลพิษจากพลาสติกในสิ่งแวด ล้อมให้แล้วเสร็จภายในปี 2567
4.การกำหนดให้ผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติต้องสนับสนุนในด้านต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนการเข้าร่วมประชุมของประเทศกำลังพัฒนาทั้งในคณะทำงานเฉพาะกิจและคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล รวมทั้งการจัดการประชุมผู้มีอำนาจเต็มเพื่อรับรองและเปิดให้มีการลงนาม (อนุสัญญา) เมื่อจัดทำแล้วเสร็จ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันที่จะมีการจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ah-hoc open-ended working group: OEWG) เพื่อเตรียมงานของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล ภายใน 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 และการกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) ครั้งแรก ภายใน 6 เดือนหลังของปี พ.ศ. 2565 รวมถึงทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการจัดการมลพิษจากพลาสติกและจัดการขยะทางทะเล โดยมีเป้าหมายในการจัดการพลาสติกทั้งวงจรชีวิต, เสริมมาตรการการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ในด้านเทคโนโลยีและด้านการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่างๆลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยร่างกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยมี 175 ประเทศให้การสนับสนุนรวมถึงประเทศไทยด้วย และหลังจากนี้จะมีการทำรายงานถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบต่อไป
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ในฐานะผู้ร่วมประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงผลสำเร็จในการประชุม UNEA 5.2 หลังจากที่ ทส. มีความพยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่องว่า
“ทส.แก้ปัญหาขยะพลาสติกต่อเนื่องนับจากเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขยะทะเลครั้งแรกในอาเซียน ต่อเนื่องด้วยการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ก่อนมีปฏิญญากรุงเทพน ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ผลการดำเนินงานทำให้ไทยลดอันดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 ลงมาอยู่ที่ 10 ได้สำเร็จ และในปี 2565 ให้ลดและเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว 7 ชนิด ได้แก่ พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีด ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่อง โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี 2570”
สำหรับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกนั้น ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังแก้ไขปัญหา แต่นานาประเทศก็หันมารักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน เช่น ประเทศจีน สั่งห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง, ประเทศสวีเดน คัดแยกขยะและแปรเปลี่ยนมาเป็นพลังงานใหม่, ประเทศกัมพูชา ตั้งเป้าหมายลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ร้อยละ 50 โดยมีการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค ส่วนของประเทศไทย มาตรการล่าสุดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ห้ามนำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าอุทยานแห่งชาติ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 100,000 บาท เป็นต้น ผลการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปได้ด้วยดี และจำนวนการใช้พลาสติกของประเทศไทยลดลงอีกด้วย