เราอาจเคยได้ยินเรื่องของแบรนด์ที่มีสตอรี่ Eco Friendly หรือ Zero Waste การนำเอาของเหลือใช้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นยอดอยู่บ่อยครั้ง อาจเป็นใบไม้ กระดาษ ลังเก่าๆ แต่จะมีสักกี่ครั้งได้ยินการนำเอามูลสัตว์มาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญ ลี่–วรรณภา กิติโสภากุล เจ้าของแบรนด์มัดมอวาลู ใช้อินเนอร์ทั้งหมดที่มีพัฒนาผ้ามัดย้อมจากมูลวัวให้กลายเป็นสินค้าสร้างชื่อให้กับจังหวัดสระบุรี สร้างเงิน สร้างงานให้กับคนในชุมชนจากมูลสัตว์ที่ถูกมองว่าไร้ประโยชน์
มัดมอวาลู ก่อตั้งมานานกว่าหกปีแล้ว คุณลี่ใช้ความหลงใหลในงานคราฟต์ และการใช้วัตถุดิบเหลือใช้มาทำให้คืนชีพ ให้ของที่ถูกมองว่าไร้ประโยชน์กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง ซึ่งเป็นใจความหลักของมัดมอวาลู ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นผ้าย้อมสีจากมูลวัวจึงเป็นสินค้าสร้างชื่อให้กับจังหวัดสระบุรี และได้เข้ามาวางขายใน คิง เพาเวอร์ ออนไลน์ ป่าวประกาศให้โลกรู้ถึงไอเดียดีๆ ความสามารถของคนไทยที่สามารถคิดค้นสูตรการทำน้ำย้อมผ้าจากมูลวัวได้ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความรักในสิ่งที่ทำ
“งานคราฟต์ต้องใช้ทั้งเวลาใช้ทั้งใจ งานนี้มันสนุกไปหมดเลย ตอนมัดลายก็สนุก
ตอนแกะก็สนุก ต้องมาลุ้นว่าจะได้ลายอย่างที่คิดไหม มันก็คือความสุขในการทำ”
วรรณภา กิติโสภากุล เจ้าของแบรนด์มัดมอวาลู
ความรักในงานคราฟต์ ทำของขายมาตั้งแต่เด็ก
“พ่อแม่ของพี่เขาทำร้านอาหารไม่เกี่ยวกับงานนี้เลย แต่พี่สาวกับพี่เรียนออกแบบกันทั้งคู่ แล้วเราชอบทำงานที่เป็นงานประดิษฐ์จากผ้า ทำตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาทำของส่งห้าง ส่งร้าน Loft และห้างดังๆ หลายห้าง เรามีความชอบในเรื่องของงานคราฟต์มาตั้งแต่ยังเด็กๆ” คุณลี่เล่าว่า เธอชอบวิชาศิลปะมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เริ่มจากทำของเล่นเอง และทดลองประดิษฐ์สิ่งของเรื่อยมา จนวันหนึ่งตัดสินใจมาลองจับธุรกิจของตัวเอง โดยมีความตั้งใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ที่สามารถสะท้อนภาพลักษณ์จังหวัดสระบุรี จังหวัดบ้านเกิดของตัวเองได้
“มันเริ่มมาจากสระบุรีไม่มีผ้าประจำจังหวัด เดิมทีพี่เอาผ้าทอในสระบุรีมาออกแบบสินค้า แต่ว่าคนทอเขาอพยพมาจากทางเหนือ กลิ่นอายคาแรกเตอร์ของผ้ามันก็เป็นทางเหนือเลย คนก็เข้าใจว่ามาจากเชียงใหม่” แม้ว่าจะมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างล้นหลาม ขายดี สร้างกำไร แต่ผ้าทอที่ได้ก็ยังไม่ตรงตามที่คุณลี่ต้องการ จึงเริ่มหันมาทำรีเสิร์ช ประกอบกับคุณลี่เป็นคนชอบไอเดียการนำของที่เหมือนจะไร้ประโยชน์มาดัดแปลงเพิ่มมูลค่า และอยู่ในบ้านที่ถูกสอนให้รู้จักการนำสิ่งของมารียูส รีไซเคิลอยู่แล้ว ‘Zero Waste’ จึงเป็นไอเดียที่ตอบโจทย์ เป็นที่มาของแบรนด์มัดมอวาลู
ซึ่งชื่อแบรนด์ก็เกิดจากการผสมคำของคำว่า “มัด” ที่มาจากมัดย้อม “มอ” คือเสียงของวัว “วาลู” คำภาษาอังกฤษที่หมายถึงคุณค่า พ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษ Much More Value ที่ตั้งใจจะหมายถึงว่าเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนด้วย
https://www.thaipower.co/passion-mudmorevalue/