"แนะnow" ร่วมกับ "Thai PBS" และ "ALTV ช่อง 4"
จัดอีเว้นต์ "แนะnow ค้นหาพรสวรรค์ สานฝันสู่อาชีพ : Open Eyes Open House"
เสวนา 4 กูรูดัง ฉายภาพแนวโน้มเทรนด์อาชีพโลกอนาคต
"แนะnow" มัลติแพลตฟอร์มพัฒนาเยาวชนจากรากฐานให้รู้จักตัวเอง ได้รับการสนับสนุนจาก "กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" จับมือ "Thai PBS" และ "ALTV ช่อง 4" จัดกิจกรรมพิเศษเสวนาออนไลน์ "แนะnow ค้นหาพรสวรรค์ สานฝันสู่อาชีพ : Open Eyes Open House" ดึง 4 กูรูแวดวงการศึกษาและธุรกิจแถวหน้าของไทย ร่วมพูดคุยฉายภาพอนาคต บอกแนวโน้มของวันข้างหน้า ชี้หนทางสู่โอกาสในโลกยุคใหม่ พร้อมชวนสัมผัสเทรนด์อาชีพแห่งอนาคตฝั่ง "สายอาชีพ" หรืออาชีวะ ผ่านบทวิเคราะห์จุดแข็ง 34 แบบ 4 บ้านพรสวรรค์ ในคอนเทนต์ "แนะnow Season 2 Vocational Series" ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.30 น. ทาง "ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก" และบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทาง ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงสาระหัวข้อ
"การเรียนรู้เพื่อโลกยุคใหม่ การสร้างผู้ใหญ่เพื่อรับมืออนาคต" ว่า โดยปกติแล้วในมุมมองของการจัดการศึกษา เด็กจำเป็นจะต้องได้รับ Skill Mapping หรือแผนที่ชีวิตสำหรับการก้าวไปสู่โลกอนาคต แต่ด้วยแนวโน้มของโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวนจากหลายปัจจัย ประกอบกับความแตกต่างที่เด็กแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ภาคการศึกษาจึงต้องเลือกลงทุนกับอนาคตให้เด็กอย่างถูกทางและถูกประเภท โดยใช้การมองว่าทักษะในแต่ละช่วงวัยควรมีอะไร หนึ่งคือต้องมีทักษะการเขียนอ่าน สองคือทักษะในการตัดสินใจ สามคือทักษะการวิเคราะห์ สี่คือทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และส่วนที่ห้าที่เพิ่มมาคือทักษะทางดิจิทัล รวมถึงต้องดำเนินการผ่านวิธีการที่สร้างประสิทธิภาพ เช่น การสร้าง Future of Skill ในแต่ละช่วงชั้น, การทำแคมป์ให้เกิดการลองและรู้จักกับอาชีพต่าง ๆ หรือใช้ดาต้าเข้ามาสอนเพื่อวัดแววและลงทุนได้ตรงกับความถนัดของเด็ก ทั้งในกลุ่ม Brain ที่ถนัดใช้ความคิด และกลุ่ม Hand-on ที่ถนัดการลงมือทำ
ด้าน
รศ.พ.ต.ท.หญิง ดร.สุขอรุณ วงษ์ทิม ประธานหลักสูตรปริญญาเอก การแนะแนวและปรึกษาเชิงจิตวิทยา สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวเสริมในประเด็น
"ชี้โอกาสเด็กไทย ในเทรนด์โลก" ว่า แนวโน้มของโลกในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งความย่ำแย่ในด้านเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว การก้าวสู่สังคมของผู้สูงวัย และสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับทั้งผลกระทบและความพยายามฟื้นฟูจากเทคโนโลยี ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ด้านต่างสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาด ทั้งในไทยและนานาชาติที่ต่างต้องการแรง
งานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสายอาชีพช่างอุตสาหกรรม บริการการขนส่ง และงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องพัฒนาตามเทรนด์เหล่านี้ ทั้งรัฐบาลที่มีบทบาทการสนับสนุนการศึกษา หน่วยงานเอกชนที่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันการศึกษาที่ต้องพัฒนาหลักสูตรผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพ รวมถึงสถาบันครอบครัว ที่ควรสนับสนุนเด็กให้เลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ
โดยที่
รศ.เจษฎา บุญมาโฮม กรรมการกลาง สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวสนับสนุนประเด็นดังกล่าวว่า มาตรการทางวิชาการที่สมาคมฯ ใช้คือ
"รู้ตน รู้งาน สานฝันสู่อาชีพ" หรือคือการผลักดันให้เด็กรู้จักตัวเอง รู้จักงาน และสามารถปรับตัววางแผนชีวิตเองได้ ซึ่งในเทรนด์ของโลกยุคใหม่ เด็กจำเป็นต้องเข้าใจถึงเรื่องงานเรื่องอาชีพในช่วงวัยที่เร็วกว่าเดิม รวมทั้งต้องทลายความเชื่อและค่านิยมสายงานอาชีวะด้วย ด้วยการให้เด็กได้เห็นถึงกระบวนการศึกษาที่มีหลากหลายช่องทาง ผ่านการเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกงานตามความสนใจและถนัด ให้ได้ลอง ได้รับประสบการณ์มากขึ้น และได้รู้ว่างานนี้ใช่หรือไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง อีกทั้งด้วยมิติของกระบวนการแนะแนวที่ผูกพันกันหลายด้าน หน่วยงานการศึกษาจึงต้องค่อย ๆ ประคับประคองและปลูกฝังให้เด็กกล้าที่จะคิด กล้าปฏิบัติ นำไปสู่การมีอาชีพและสามารถรับผิดชอบได้ทั้งตัวเองและสังคม