‘อมยิ้มปลอมระบาด’ ลูกอมปีศาจภาคใหม่?!?


‘อมยิ้ม’ หรือเรียกตามภาษาฝรั่งว่า โลลลี่ป็อป (Lollipop) เป็นก้อนแข็งของลูกอมที่ติดอยู่ปลายของแท่ง คาดว่ามาจาก รากศัพท์ของ lolly (tongue) ลิ้น + pop แต่คนไทยคิดชื่อขนมหวานยอดนิยมของเด็กๆ ทั่วโลกได้น่ารักน่าชิมลิ้มรสกว่าอย่างอารมรณ์ดีว่า อมยิ้ม ซึ่งดูเหมือนไม่น่ามีอะไรสำคัญสำหรับขนมเด็กๆ ที่ดูไม่มีพิษภัยท่ามกลางสีสันสดใสดึงดูดใจเด็กๆ ของขนมหวานกินเล่นชนิดนี้ แต่จากกระแสข่าวดังในรอบสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งนำทีมโดย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทนัย อภิชาติเสนีย์ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (รอง ผบก.ปคบ.) ได้เข้าไปตรวจสอบแหล่งผลิตอมยิ้มปลอม ย่านทุ่งครุ กรุงเทพฯ หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ผลิตอมยิ้มรายหนึ่งว่า ได้มีผู้ลักลอบผลิตอมยิ้มปลอม เลียนแบบอมยิ้มของโรง
งานตนเองที่ได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย
โดยมีการเลียนแบบทั้งรูปร่าง ลักษณะ หีบ ห่อ ฉลาก ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการบริโภคของเด็กได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบของกลาง เป็นอมยิ้มที่ผลิตเลียนแบบยี่ห้อที่ขออนุญาตถูกต้อง 7,000 แท่ง รวมทั้งพบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เช่น กระทะ เตาแก๊ส หม้อต้ม เครื่องพิมพ์ เครื่องขึ้นรูป พร้อมทั้งฉลาก และซองที่เตรียมบรรจุเป็นจำนวนมาก และสถานที่ผลิตดังกล่าว ยังไม่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP - Good Manufacturing Practice หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต ซึ่งหมายถึง หลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตอาหารที่ดี โดยมีระบบการควบคุมทุกขั้นตอน ซึ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข เป็นระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด)
มาสำรวจตรวจดูว่าปรากฏการณ์อมยิ้มปลอมระบาดส่งผลสะเทือนต่อเด็กๆ และพ่อ
แม่ผู้ปกครองกันอย่างไรบ้าง

