ซีรีย์ 1 ปี ของจริงไม่อิงละคร ตอน "ไหนว่าเอาอยู่ น้ำท่วม ภัยแล้ง"...!!!


ที่พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเงา ดร.สรรเสริญ สมะลาภา รมช. คลังเงา และ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคมเงา ร่วมกันแถลงข่าวเปิด ซีรีย์ 1 ปี ของจริงไม่อิงละคร ตอน "ไหนว่าเอาอยู่ น้ำท่วม ภัยแล้ง" ว่าเหตุการณ์มหาอุกทกภัยที่เกิดขึ้น เมื่อปี 2554 นั้นเกิดจากความผิดพลาดด้านการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เนื่องจาก รัฐบาลคาดการณ์ปริมาณน้ำผิด และมีการกักเก็บน้ำมากจนเกินไป ซึ่งลำดับเหตุการณ์น้ำท่วม มีระยะเวลานานถึง 5 เดือน 27 วัน นับว่า มีเวลามากพอที่จะดำเนินการป้องกันและแก้ไข แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้
ขณะที่การตั้งคณะกรรมการหลายชุดขึ้นมาดำเนิน
งานแก้ไขปัญหาดังกล่าวนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เข้ามากำกับดูแลด้วยตัวเอง นอกจากนี้ การเยียวยาประชาชนภายหลังเกิดอุทกภัย ก็ถือเป็นการสร้างภาพเพราะประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับเงินเยียวยาตามความเป็นจริง จนก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงตามที่ปรากฏเป็นข่าว กว่า 27 เหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งให้เร่งระบายน้ำ โดยไม่สนใจคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่พยากรณ์ว่า ฝนจะตกทิ้งช่วงในปลายปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนภูมิพล ลดเหลือเพียง 20% จึงคาดว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้น่าจะรุนแรงอย่างแน่นอน
“สามารถ” ยำใหญ่การบริหารจัดการน้ำ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคมเงา แถลงถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะโครงการป้องกันน้ำท่วมตามแผนเร่งด่วนไม่เป็นไปตามแผน แต่รัฐบาลคุยว่า การป้องกันน้ำท่วมตามแผนเร่งด่วนมีความคืบหน้าแล้วกว่า 70%
“เป็นไปไม่ได้ เพราะโครงการสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างคันกั้นน้ำคลองพระยาบันลือ หรือคันกั้นน้ำแม่น้ำท่าจีน หรือคันกั้นน้ำคลองระพีพัฒน์แยกใต้ หรือคันกั้นน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิตยังไปไม่ถึงไหนเลย บางโครงการยังหาผู้รับเหมาไม่ได้ บางโครงการเพิ่งเริ่มงานก่อสร้าง ไม่ทันรับน้ำปีนี้แน่” ดร.สามารถกล่าวพร้อมกับแสดงภาพถ่ายคันกั้นน้ำคลองพระยาบันลือที่ยังไม่มีความคืบหน้า
ดร.สามารถกล่าวต่อว่า งานเร่งด่วนที่จะแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคมนี้ก็คือการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม 5 แห่ง (ไม่รวมนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร) ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี ที่เสร็จได้ก็เพราะภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองทั้งหมด ไม่ได้เป็นผลงานของรัฐบาล รัฐบาลเพียงแต่จะช่วยอุดหนุนค่าก่อสร้าง 2 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเงินทั้งหมด 3,236.695 ล้านบาท จากเงินค่าก่อสร้างทั้งหมด 4,855.043 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้มอบให้เอกชน ดร.สามารถตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประการ
(1) ค่าก่อสร้างต่อกิโลเมตรต่างกันมากถึงกว่า 2 เท่า แม้ว่าความสูงและความหนาของเขื่อนไม่เท่ากันก็ตาม แต่ค่าก่อสร้างก็ไม่น่าต่างกันมากถึงเพียงนี้ จึงเป็นห่วงว่าจะมีเงินรั่วไหลหรือไม่? และ
(2) เงินอุดหนุน 3,236.695 ล้านบาท เป็นเงินให้ฟรีจากรัฐบาล เป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ช่วยสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อื่นด้วย เช่น หมู่บ้านขนาดใหญ่ เป็นต้น ดร.สามารถ ชี้ว่า
การใช้เงินกู้ 350,000 ล้านบาทในการบริหารจัดการน้ำนั้น เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติได้เข้าร่วมงานได้มากกว่าบริษัทไทย ทั้งๆ ที่บริษัทต่างชาติไม่ได้มีขีดความสามารถเหนือกว่าบริษัทไทยเลย โครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูง หรือรถไฟฟ้า ก็ก่อสร้างโดยบริษัทไทยทั้งนั้น เวลานี้บริษัทต่างชาติแทบไม่เหลืออยู่ในวงการที่ปรึกษาและก่อสร้างของประเทศไทย เพราะประมูลสู้บริษัทไทยไม่ได้ อีกทั้งบริษัทต่างชาติเข้าใจสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของคนไทยน้อยกว่าหรือไม่เข้าใจเลย ซึ่งการบริหารจัดการน้ำที่ดีจะต้องเข้าใจสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างดี “การจ้างบริษัทต่างชาติจะทำให้ค่าจ้างแพงโดยใช่เหตุ กอปรกับการใช้วิธีจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้าง หรือออกแบบไปก่อสร้างไป จะเปิดช่องโหว่ให้มีการคอรัปชั่นได้มาก เพราะตรวจสอบยากเนื่องจากไม่มีแบบรายละเอียด เงินกู้ก้อนใหญ่นี้เป็นเงินกู้ในประเทศ ไม่จำเป็นต้องใช้บริษัทต่างชาติ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องสนับสนุนบริษัทไทยให้มีโอกาสเข้าร่วมงานได้มากกว่านี้ เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย” ดร.สามารถสรุปทิ้งท้าย
http://www.democrat.or.th/th/news-activity/article/detail.php?ID=13016




