(ต่อ)
ตัวแทนฝ่ายขายฯ ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวนสาวยาคูลท์ เกือบ 4-5 พันคน ทั้งในเขตกทม. และต่างจังหวัด เพราะขณะนี้ยาคูลท์ มีขายทั่วประเทศแล้ว และสาวยาคูลท์แต่ละคนก็จะมีเขตในการจำหน่ายสินค้าของตนเอง
“อายุของบุคคลที่เรารับสมัครเข้ามาเป็นสาวยาคูลท์ ที่กำหนดไว้ จะต้องบรรลุนิติภาวะ ตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป แต่ถ้าอายุเกิน 35 ปีไปแล้ว ก็คงจะต้องมีการพิจารณากัน เพราะงานที่ทำต้องใช้แรง ไม่ใช่งานสบาย ต้องดูว่าเขาทำไหวหรือเปล่า ส่วนการศึกษาก็ตั้งแต่ชั้น ม.3 ขึ้นไป”
เมื่อถามว่า ทำไมบริษัทถึงเปิดรับแต่สาวยาคูลท์ ไม่มีหนุ่มยาคูลท์บ้างหรือ ตัวแทนฝ่ายขายระบุว่า “เราเปิดรับแต่ผู้หญิงมาเป็นสาวยาคูลท์ ไม่รับผู้ชาย เป็นหนุ่มยาคูลท์ เพราะผู้หญิงมีกริยาที่เหมาะสมกับการขายสินค้ามากกว่า”
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2513 ทุนปัจจุบัน 35,000,000 บาท ตั้งอยู่ที่ 1/3 หมู่ที่ 2 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ นมเปรี้ยวยาคูลท์ ปรากฏชื่อ นายประพันธ์ เหตระกูล นายสมชาย ไพรัชวิเศษสุด นายโนริมาซา โอกาซาวารา นายซาดาอากิ โอคาโมโต้ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ยาคูลท์เซลส์ (กรุงเทพฯ) จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 58.2229% บริษัท ยาคูลท์ ฮอนช่า จำกัด สัญชาติญี่ปุ่น 25.2857% บริษัท ประชุมช่าง จำกัด 5.1429% ผู้ถือหุ้นที่เหลือเป็นคนในตระกูล “เหตระกูล”
ล่าสุดปี 2555 แจ้งว่ามี รายได้จากการขายและบริการ – สุทธิ 1,810,246,023.87 บาท แต่ขาดทุนสุทธิ 233,429,587.46 บาท
ขณะที่ บริษัท ยาคูลท์เซลส์ (กรุงเทพฯ) จำกัด จดทะเบียนวันที่ 9 มิถุนายน 2521 ทุน 30,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 1025 อาคารยาคูลท์ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร นาย ประพันธ์ เหตระกูล ถือหุ้นใหญ่สุด
ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2554 ที่ผ่านมา นายประพันธ์ เหตระกูล เคยให้สัมภาษณ์มติชน ว่า ได้พบกับยาคูลท์ ในช่วงที่ไปเรียนญี่ปุ่น และทำให้สุขภาพของลำไส้ของตนดีขึ้น จึงประทับใจ ก่อนจะร่วมกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นลงทุนเปิดบริษัทยาคูลท์ในไทย และได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีผลดีต่อสุขภาพในเวลาต่อมา
“ผมมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 4,500 คน โดยเฉลี่ยแล้วพนักงานของเราประมาณ 70% ครอบครัวแตกแยก สามีทิ้ง สามีตาย สามีไม่สมบูรณ์ รายได้ของครอบครัวไม่ดี สิ่งที่ผมภูมิใจและดีใจกับพวกเขาคือ กิจการของผมสามารถทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นมีงานทำ สามารถส่งเสียลูกๆ ให้เรียนจนจบปริญญาได้”นายประพันธ์ระบุ
ด้วยเหตุผลนี่ จึงทำให้ “สาวยาคูลท์” พร้อมใจกันเรียก ประพันธ์ เหตระกูล ว่า “พ่อ”
นี่คือข้อมูลทั้งหมด ของสาวยาคูลท์ ที่พอจะสืบเสาะได้ หากใครมีข้อสงสัยอื่นเพิ่มเติม คงต้องไปสอบถามเพิ่มเติมจากสาวยาคูลท์อีกครั้ง
ตามสโลแกน "อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์สิคะ"
-------------
หมายเหตุ : ภาพ"ประพันธ์ เหตระกูล" จากเว็บไซต์มติชน ,ภาพสาวยาคูลท์ จากเว็บไซต์บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด