"เผา"...???

หยุด!!! เผาฟางข้าว และตอซัง สร้างโลกให้น่าอยู่ กับการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ทำตัวเป็น "ทองไม่รู้ร้อน"
ห้วงเวลานี้เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร "ชาวนา" ในหลายๆ พื้นที่ของไทย หลายคนที่สัญจรผ่านไปตามถนนหนทาง ซึ่งจะต้องพาดผ่านทุ่งนา จากเมื่อก่อนเคยเขียวขจี แต่ช่วงนี้ จะมองเห็นทุ่งรวงทอง ที่รอการเก็บเกี่ยว บางแปลงนาได้ทำการเก็บเกี่ยวไปเรียบร้อยแล้วทิ้งไว้เพียงฟางแห้ง และตอซัง อยู่ในพื้นนา
แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นประจำหลังฤดูการเก็บเกี่ยวของชาวนา คือ "การเผาฟางข้าว และตอซัง" เพื่อให้ง่ายสำหร้บขั้นตอนการเตรียมดินปลูกข้าวในฤดูถัดไป ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ในประเทศนี้มักจะใช้วิธีการเผาฟางข้าว และตอซัง ผมเองก็ไม่รู้ว่าพวกเขา "ไปร่ำเรียนมาจากไหน สำหรับวิธีนี้" วิธีการเผาฟางข้าว และตอซัง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ
การเผาฟางข้าว และตอซั้ง
ประโยชน์
1.ทำให้การไถทำเทือกง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น
2.เป็นการกำจัดโรค และแมลงบางส่วนที่ตกค้างอยู่ในนา
ผลเสีย
1.ทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมการจราจร และเถ้าเขม่า ผลเสียต่อสุขภาพ
2.ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
3.ทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ย ที่ควรจะได้จากการย่อยสลายของฟางข้าว และตอซัง ซึ่งจะทำให้สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ที่จะใช้ในฤดูกาลต่อๆ ไป
ภาพรวมประเทศไทย “ประเมินว่าเฉพาะการเผาทิ้งเศษเหลือจาก ตอซัง และฟางข้าวเพียงอย่างเดียว ทำให้ต้องสูญเสียธาตุอาหารหลักที่เป็นไนโตรเจนถึง 90 ล้านกิโลกรัม ฟอสฟอรัส 20 ล้าน กิโลกรัม และโพแทสเซี่ยม 260 ล้านกิโลกรัม ยังไม่นับการสูญเสียธาตุ อาหารรอง เช่น แคลเซียม แมกนีเซี่ยม และซัลเฟอร์ อีกกว่า 150 ล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่าห้าพันล้านบาท"
ที่มาhttp://www.ldd.go.th/manual_stump/stump.pdf
4.ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของดิน ทำลายโครงสร้างของดิน
-ทำให้โครงสร้างดินเปลี่ยนแปลงไป เนื้อดินจับตัวแน่น
-สูญเสียอินทรีย์วัตถุในดิน
-ทำลายจุลินทรีย์ สัตว์ และแมลงที่เป็นประโยชน์
"ฟางข้าว และตอซัง นอกจากจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแล้ว ยังช่วยในการปรับปรุงดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้คุณภาพของดินดีขึ้น"

ขอยกตัวอย่าง ข้อดี ข้อเสีย บางส่วนเท่านี้ ซึ่งจริงแล้วยังมีข้อดี ข้อเสียของการเผาฟางข้าว และตอซัง ปลีกย่อยอีกมากมาย
ผมเป็นอีกคนหนึ่่งที่คลุกคลีทำมาหากินอยู่กับชาวนามาตั้งแต่จบจากรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นห้วงเวลาเกือบยิี่สิบปี ได้เห็นพฤติกรรมชาวนาไทย พอหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ส่วนใหญ่ก็จะลงเอยด้วยการเผาฟางข้าว และตอซัง กลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นทำประจำ จนเกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีปฎิบัติของชาวนาไปแล้วก็ว่าได้
จากที่ได้ร่ำเรียนมาในรั้ง มหา' ลัย ทางด้านการเกษตรโดยตรง จากการศึกษา การอ่าน ไม่ว่าจะตำราเล่มไหน บวกลบคูณหาร ข้อดีข้อเสียของการเผาฟางข้าว และตอซัง ก็ยังมิอาจหาข้อดีที่่มากกว่าการไม่เผาได้สักครั้งเดียว ทุกครั้งที่คิดก็มักจะลงเอยด้วย "ไม่เผาฟางข้าว และตอซัง ดีกว่า การเผาฟางข้าว และตอซังเสมอ" และผมก็เชื่อว่านักวิชาการเกษตร ท่านอื่นๆ ก็คิดคงคิดด้วยเหตุด้วยผลประมาณนี้เช่นกัน
เราต่างรู้ดีว่า "ผลกระทบ และผลเสียจากการเผาตอซัง และฟางข้าว" มีมากมาย
แต่สิ่งที่เราไม่เห็นคือ การรณรงค์จากภาครัฐในการป้องกัน และขจัดปัญหา อย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งหากเรามองกันให้ดีๆ ปัญหานี้นับว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ดูประหนึ่งว่าเป็นปัญหาไกลตัว แต่ถ้าดูกันให้ลึกๆ อยู่ใกล้เพียงมือเอื้อม เพราะทำให้เกิดผลกระทบทั้ง "สุขภาพของประชาชน" “การสูญเสียทางเศรษฐกิจ" และ "ปัญหาสิ่งแวดล้อม"
หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า "รู้อย่างนี้ แล้วทำไมชาวนาไทย ยังคงเผาฟางข้าว และตอซังอยู่เหมือนเดิม?”
นั่นนะซิครับ!!
คำตอบมีสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "ทำให้การทำ
งานของชาวนาง่ายขึ้น ในการเริ่มต้นฤดูใหม่"
แต่ถึงยังไง ผมคงไม่ไปโทษชาวนา เพราะเขารู้แค่นี้เขาก็ทำแค่นี้ เขาทำเต็มที่ ในสิ่งที่เขารู้แล้ว แต่รัฐบาล? กระทรวงเกษตร? เกษตรตำบล? เกษตรอำเภอ? เกษตรจังหวัด? กรมพัฒนาที่ดิน? ผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องนี้ ท่านทำอะไรอยู่?
ไม่ว่าจะกี่รัฐบาลที่ผ่านมา ก็ยังมองไม่เห็นความเอาจริงเอาจัง กับการแก้ปัญหานี้ ฤาว่ารัฐบาลไม่ได้มองว่านี่่คือ "ปัญหา" หรือรู้ เห็นแต่ทำตัวเป็น "ทองไม่รู้ร้อน"
โดย คนขายปุ๋ย
ที่มา :
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=791217




