ใครเป็นใคร? ใน 10 ว่าที่นายกรัฐมนตรีนอกระบบเลือกตั้ง จาก "โพยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ"
วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. เปิดประเด็นร้อนทางการเมือง โดยกล่าวอ้างจากแหล่งข่าวและกระแสข่าวของบรรดาสื่อมวลชนว่า มีคนกลุ่มหนึ่งเตรียมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีกลาง ตามวิถีทางนอกระบบประชาธิปไตย สำหรับรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลางที่นายณัฐวุฒิเปิดเผย มี 10 รายชื่อ แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
กลุ่มตัวเต็ง 3 รายชื่อ
ตัวเต็งแรก—นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) ผู้ลาออกจากราชการในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ ยังเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ว่ากันว่ามีความสนิทสนมกับนักการเมืองหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์
ตัวเต็งที่สอง—นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายรัฐมนตรีสองสมัยผู้ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ทว่าได้ตำแหน่งครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารในปีพ.ศ.2534โดยคณะรสช.และหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ (ชนิดที่ตัวเต็งนายกฯ ในขณะนั้น อย่าง พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ต้องแต่งชุดขาวรอเก้อ) บทบาททางการเมืองหลังสุด คือ การดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หลังเหตุการณ์การชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อ พ.ศ. 2553
ตัวเต็งที่สาม—พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ. หลังจากรัฐประหารปี 2549 ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้เป็นรมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.อ. ประวิตรเป็นนายทหารที่เติบโตมาจากการรับราชการในภาคตะวันออกมาโดยตลอด จึงถือเป็น "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์" ที่สนิทสนมกับพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. และพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน
กลุ่มสอดแทรก 2 รายชื่อ
ตัวสอดแทรกแรก— ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เคยผ่านงานในครม.มาหลายชุด ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหาร เริ่มจากการเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไปดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน และรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร รวมทั้งเป็นรองนายกฯ และควบ รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาล พล.อ. สรยุทธ์ จุลานนนท์
ตัวสอดแทรกที่สอง— นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตที่ปรึกษาบริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น อดีตรองนายกฯ และ อดีตรมว.คลังและพาณิชย์ สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย หลังปี 2549 เป็นต้นมา แสดงจุดยืนอย่างเด่นชัด ว่าอยู่ตรงข้ามขั้วอำนาจที่นำโดยทักษิณ ชินวัตร
กลุ่มม้ามืด 3 รายชื่อ
ม้ามืดแรก— นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว. ต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ทั้งยังเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งเลขาฯ สหประชาชาติ (UN) ในช่วงเวลาดังกล่าว สมรสกับท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนายสุรเกียรติ์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (Asian Peace and Reconciliation Council) (APRC) และเป็นประธานบริษัท เป๊ปซี่โคล่า ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
ม้ามืดสอง— นายอาสา สารสิน ลูกชายนายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการ และเคยเป็นอดีตรมว. ต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน
ม้ามืดสาม— นายวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (CEO) บมจ. อมตะคอร์ปอเรชั่น เคยแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียว่า ประเทศไทยควรมีการประหารชีวิตคนโกงกิน ถ้ามีการประหารสัก 10,000 คน คนไทยคงไม่สูญพันธุ์
กลุ่มอัศวินม้าขาว
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ที่โดนกดดันให้ทำการรัฐประหาร และอีกหนึ่งรายชื่อที่นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เป็นบุคคลที่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน
เครดิต มติชนออนไลท์