Internet Society ผนึกกำลังอัลคาเทล-ลูเซ่น สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตของไทย
ส่งเสริมการจัดตั้ง Internet Exchange Point ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมใหม่สุดล้ำสมัย
Internet Society ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัทอัลคาเทล-ลูเซ่น (Euronext Paris และ NYSE: ALU) เพื่อจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือสนับสนุนการพัฒนา Bangkok Internet Exchange Point (BKNIX) ผ่านโครงการ Interconnection and Traffic Exchange (ITE) ของ Internet Society โดยคาดว่า BKNIX ซึ่งจะเริ่มให้บริการในเดือนธันวาคม 2557 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของอินเทอร์เน็ต กระตุ้นประสิทธิภาพของการจัดการจราจรบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น รวมถึงปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดีขึ้น
Bangkok Internet Exchange Point จะขับเคลื่อนมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีนัยสำคัญด้วยการนำเสนอ IXP ระดับชุมชนที่เป็นกลาง โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยของอัลคาเทล-ลูเซ่นอย่าง 7750 Service Router (SR) ทั้งนี้ 7750 SR ใช้เทคโนโลยีชิปซิลิคอน 400 Gb/s FP3 ของอัลคาเทล-ลูเซ่น จึงมอบประสิทธิภาพที่ไม่ธรรมดา และยืดหยุ่นต่อบริการ IP ที่มีความหลากหลาย พร้อมทั้งบริการอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) และผู้ให้บริการคอนเทนต์จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และเชื่อมต่อแบบ peering ในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคได้อย่างหลากหลาย ด้วยการนำเสนอบริการผ่าน BKNIX ซึ่งจะช่วยขยายช่องทางการเข้าถึง และนำเสนอบริการต่างๆให้กับประชาชนทั่วไปได้มากขึ้น
“เอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” ราชนิช สิงห์ หัวหน้าสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Internet Society กล่าว “การจัดตั้ง IXP ที่เป็นกลางในกรุงเทพฯ จะช่วยปรับปรุงการติดต่อถึงกันทั้งในประเทศ และในภูมิภาคได้อย่างมาก เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ และนี่ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปี 2558 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการรวมตัวของอาเซียน ที่มีประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในประชาคมแห่งนี้”
“การแลกเปลี่ยนทางอินเทอร์เน็ตเป็นตลาดที่กำลังเติบโตสำหรับคอร์ เราติ้ง และด้วยขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนทางอินเทอร์เน็ตจึงยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้น” เบซิล อัลแวน ประธานสายธุรกิจ IP Routing & Transport ของอัลคาเทล-ลูเซ่นกล่าว “ประเทศไทยมีตลาดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีศักยภาพเติบโตอย่างมาก แต่การเติบโตนี้จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่แข็งแกร่ง โซลูชั่นของเราตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวด้วยการนำเสนอแพลตฟอร์มเราติ้งขีดความสามารถสูง และประสิทธิภาพสูงที่สามารถรองรับความต้องการ และปริมาณในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการและการขยายตัวในอีกหลายปีข้างหน้า เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รวมพลังกับ Internet Society ซึ่งมุ่งมั่นทำงานเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกอย่างยั่งยืนผ่านโครงการริเริ่มที่ยิ่งกว่าคุ้มโครงการนี้”
ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต เจ้าของรางวัล Internet Hall of Fame และรองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย แสดงความเห็นว่า “เราได้เห็นชุมชนอินเทอร์เน็ตไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ ด้วยคอนเทนต์ในประเทศ และการจราจรบนเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน การเชื่อมต่อระหว่าง ISPs นั้นเป็นแบบ peering แต่บริการ IX แบบเป็นกลางของ BKNIX จะช่วยให้พวกเขาสามารถติดต่อถึงกันได้โดยตรงและประหยัด ความสัมพันธ์นี้จะยั่งยืนมากขึ้นในการรับมือกับการจราจรที่จะขยายตัวขึ้นอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่คอนเทนต์จะกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างอัลคาเทล-ลูเซ่น และ Internet Society จะช่วยผลักดันให้กลุ่มผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตไทยเริ่มต่อยอดการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของไทยในช่วงต่อไป ความพยายามด้าน IXP นี้ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ประสบการณ์และบทเรียนต่างๆของเราจะได้รับการแบ่งปันไปทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำแม่โขงด้วย”
เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ Internet Society ได้ร่วมงานกับประเทศและพันธมิตรชุมชนอินเทอร์เน็ตหลายแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการพัฒนาเครือข่ายหลัก การเชื่อมต่อถึงกัน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการช่วยจัดอบรมบุคคลทั่วไปให้จัดตั้งและดูแลโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคของตนเอง โครงการ ITE ประกอบด้วยโครงการย่อยอีกมากมายที่ช่วยส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างกันให้แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า ตลอดจนสร้างเสริมภูมิทัศน์ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคที่กำลังพัฒนาของโลกให้สมบูรณ์ เนื่องจากการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่ยั่งยืนและเชื่อถือได้ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาระบบนิเวศอินเทอร์เน็ตของประเทศได้อย่างมหาศาลเท่านั้น แต่ยังช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย