"นาซา"ทดสอบยาน ส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร ในปี 2021
นาซาทดสอบยาน ส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร
องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในก้าวแรกของบันไดสู่การส่งมนุษย์อวกาศไปยังดาวอังคาร ด้วยการทดลองส่งยานอวกาศ โอไรออน ขึ้นสู่ห้วงอวกาศและกลับลงสู่โลกได้สำเร็จเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา
ยานโอไรออน เป็นยานอวกาศที่ถูกออกแบบมาเพื่อการส่งนักบินอวกาศออกไปสำรวจอวกาศในระยะไกลกว่าที่เคยทำกันมา โครงการแรกสุดจะเป็นการส่งมนุษย์ไปยังดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะเป็นการส่งมนุษย์อวกาศไปยังดาวอังคารในที่สุด
ยาน สำรวจอวกาศโอไรออน ถูกส่งขึ้นจากฐานส่งยานอวกาศที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อการบินทดสอบครั้งแรกด้วยจรวดส่ง เดลต้า4 ที่นำยานสำรวจนี้ขึ้นไปสู่วงโคจรที่ระดับเกือบ 5,800 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ซึ่งเป็นระดับที่อยู่สูงกว่าระดับโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ประมาณ 15 เท่า และเป็นระดับที่สูงที่สุดสำหรับยานอวกาศที่มีมนุษย์ขึ้นไปโคจรอยู่นับ ตั้งแต่โครงการอพอลโลเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ซึ่งยุติไปในตอนต้นทศวรรษ1970
โอไรออนโคจรรอบโลกในระดับสูงอยู่ 2 รอบ กินเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงกับ 30 นาที จากนั้นแคปซูลของยานซึ่งออกแบบมาใช้สำหรับเป็นที่อยู่ของนักบินอวกาศ ก็ตกกลับลงมาสู่พื้นมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณนอกชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีหน่วยเก็บกู้เก็บกลับคืนมาเรียบร้อย
จุดมุ่งหมายสำคัญในการ ทดลองบินครั้งแรกในระยะเวลาสั้นนี้เป็นไปเพื่อทดสอบระบบของยานทั้งหมดโดย เฉพาะแผงฉนวนป้องกันความร้อนและระบบร่มชูชีพ ในขณะเดียวกันก็มีการติดตั้งมาตรวัดไว้ภายในยาน เพื่อวัดปริมาณรังสีต่างๆ และระดับอุณหภูมิระหว่างการบิน ขั้นตอนดำเนินการดังกล่าวนี้คล้ายๆ กับการบินทดสอบครั้งแรกโดยที่ยังไม่มีมนุษย์อวกาศของยานอพอลโลในตอนปลายทศวรรษ 1960
โอไรออนกำหนดจะบินขึ้นพร้อมกับนักบินอวกาศเป็นครั้งแรกในปี 2021 โดยทางนาซาวางแผนเอาไว้ว่า จะส่งมนุษย์อวกาศไปยังดาวเคราะห์น้อยให้ได้ภายในปี 2025 และดาวอังคารในราวทศวรรษ 2030 ทั้งนี้เมื่อปี 2011 องค์การอวกาศ 14 ชาตินำโดยนาซา ร่วมมือกันกำหนดแผนเป็นขั้นตอนเพื่อการสำรวจอวกาศโดยมีดาวอังคารเป็นเป้าหมายสูงสุด คาดการณ์เอาไว้ว่ามนุษย์อวกาศน่าจะไปถึงดาวอังคารได้ในปี 2033 ใกล้เคียงกับแผนของนาซา
โอลิเวียร์ เดอ เวค ศาสตราจารย์ด้านการบินและการบินอวกาศ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ระบุว่า การเดินทางไปยังดาวอังคารนั้นยังคงมีอุปสรรคท้าทายสำคัญๆ อยู่อีกไม่น้อย อย่างแรกสุดก็คือ ยานโอไรออนนั้นรองรับนักบินอวกาศได้เพียงแค่ 21 วัน จึงจำเป็นต้องมีส่วนโมดูลพิเศษเพิ่มเติมสำหรับการเดินทางไปยังดาวอังคารซึ่งเวลาหลายเดือน ทำให้การเดินทางไปดาวอังคารจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และเสบียงที่มีน้ำหนักมากถึงราวๆ 500 ตัน ในขณะที่ระบบจรวดส่งยานอวกาศที่มีอยู่ในเวลานี้สามารถรับน้ำหนักได้เพียง 130 ตันเท่านั้น
ปัญหาอีกประการก็คือ ระดับการแผ่รังสีสูงซึ่งนักบินอวกาศต้องได้รับระหว่างการเดินทางยาวนานนั้น เทคโนโลยีสำหรับทำเกราะป้องกันการแผ่รังสีดังกล่าวในขณะนี้ยังไม่มี
ผู้เชี่ยวชาญบางราย อาทิ เอเรียล วอลด์แมน อดีตกรรมาธิการการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ เชื่อว่า นาซาเองยังคลุมเครืออยู่ว่า จะส่งมนุษย์ไปลงบนดาวอังคารแล้วกลับมาสู่โลกจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การไปโคจรรอบดาวเคราะห์สีแดงดวงนั้นแล้วเดินทางกลับ
วอลด์แมนยังเชื่อว่า ด้วยความท้าทายหลายๆ อย่าง และค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลนั้น การเดินทางไปดาวอังคารอาจไม่มีชาติใดชาติหนึ่งทำได้สำเร็จเพียงลำพัง แต่น่าจะเป็นไปในรูปของความร่วมมือในระดับนานาชาติมากที่สุด
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1418097154
โพสจัง