มติ ครม.ให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซจากอ่าวไทย มักมีการกล่าวอ้างว่า “ปิโตรเคมีแย่งประชาชนใช้ก๊าซ” ในสังคมโซเชียล หรือบ้างก็ว่า LPG ในภาคปิโตรเคมี เป็นเหตุผลให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซอยู่ในปัจจุบัน และหากตัดธุรกิจในส่วนนี้ไป ก๊าซที่ผลิตได้นั้นเพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซ ในประเทศ
ทำความเข้าใจกันสักนิด ย้อนไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ปี 2525 – 2529 ได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาชายฝั่งตะวันออกให้กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ โดยได้วางบทบาทพื้นที่มาบตาพุดเป็น “แหล่งอุตสาหกรรมหลัก” เช่น อุตสาหกรรมแยกก๊าซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมโซดาแอชเป็นต้น นั้นหมายความว่า “ปิโตรเคมี” เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมถึงเป็นเหตุผลในการสร้างโรงแยกก๊าซอีกด้วย
อ้างอิงไปถึง มติคณะกรรมการนโยบายพลัง
งานแห่งชาติที่ 3/2551 (ครั้งที่ 122) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ในข้อที่ 7 ว่าด้วย มาตรการด้านการค้า ในข้อที่ 7.1.1 “โดยหลักการจัดสรรการผลิตก๊าซ LPG ในประเทศ จะถูกจัดสรรไปให้กับภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีเป็นลำดับแรก และจัดสรรให้ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ หากปริมาณการผลิตก๊าซ LPG ที่เหลือจากการจัดสรรให้กับภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมให้มีการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศมารองรับกับความต้องการใช้ในส่วนที่ขาด” นั่นหมายความว่า ภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีจะได้ใช้ LPG ที่จัดหาได้ในประเทศ (อ่าวไทย) ก่อน ส่วนที่เหลือถึงจะเป็นของภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง และหากไม่พอใช้จึงนำเข้าจากต่างประเทศ หรือแปลได้อีกนัยว่า “มติ ครม.ให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซจากอ่าวไทย”
ในความเป็นจริง “ปิโตรเคมี” มีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจประเทศเราค่อนข้างมาก เนื่องจาก สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในประเทศและส่งออกมากมาย โดยมีสารปิโตรเคมีที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโอเลฟินส์ ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชนิดต่างๆ เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (พีวีซี) พอลิเอทิลีน (พีอี) นอกจากนั้นยังใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอีกหลายชนิด เช่น ลิเนียร์แอลคิลเบนซีน (Linear Alkyl Benzene) ซึ่งใช้ผลิตผงซักฟอก กลุ่มอะโรเมติกส์ ใช้เป็นตัวทำละลายและใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอื่นๆ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 3 ประเภท
•เบนซีน ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสบู่และผงซักฟอก ใช้ผลิตพลาสติกชนิดที่เรียกว่า “ABS” ซึ่งใช้ทำตัวเครื่องโทรทัศน์ ตัวตู้โทรทัศน์ หมวกกันน็อก ฯลฯ
•โทลูอีน ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสี ทินเนอร์ กาว ยาฆ่าแมลง ฯลฯ
•ไซลีน ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใย เส้นด้าย ขวดใส่อาหาร ถุงใส่อาหารร้อน ฯลฯ
กลับมามองที่สัดส่วนการใช้ จะเห็นว่าภาคปิโตรเคมี ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มคงที่ ลดลงบ้างเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ภาคขนส่งมีอัตราการใช้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสถิติ ในปี 2545 มีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 14.3% ในขณะที่ปัจจุบันพุ่ง สูงขึ้นเกือบ 2 เท่า เป็น 26% แล้ว คำกล่าวที่ว่าภาคปิโตรเคมีแย่งภาคประชาชนใช้จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องนัก


อย่างไรก็ตาม การพยายามหาคนผิดว่าภาคไหนใช้มากน้อยอย่างไรไม่ควรเป็นประเด็นหลักที่ภาคประชาชนจะให้ความสำคัญมากกว่า เราจะจัดสรรทรัพยากรอย่างไรให้พอเพียงกับความต้องการของคนในประเทศ รวมถึงพึ่งพาการนำเข้าให้น้อยที่สุด
อ่านต่อเพิ่มเติม http://www.xn--72caab2fl6azbbby8lpav6ezjxc.com/2015/06/