ทางออกที่ดีที่สุดของการใช้IT ในสังคมแห่งปัญญา โครงสร้างของสังคม ประกอบด้วย คนในสังคมเป็นหลักใหญ่ และปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมก็มาจากคนนั่นเอง ดังนั้น การที่จะพัฒนาสังคม หรือ องค์กร ให้เจริญก้าวหน้า จึงต้องมุ่งไปที่การพัฒนากำลังคน ( Man Power ) เป็นหลัก โดยมองไปที่การพัฒนาคนเพื่อนำไปสู่ สังคมข้อมูลข่าวสาร , สังคมแห่งความรู้ และสังคมอุดมปัญญา ซึ่งจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาเป็นเครื่องมือหลักในการส่งเสริม ผลักดัน และขับเคลื่อนอย่างชาญฉลาด
หากปล่อยปละละเลยให้คนในสังคมใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างขาดความตระหนัก ขาดความสำนึก และขาดภูมิคุ้มกัน ก็อาจจะส่งผลกระทบไปในทางลบ และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
องค์กรที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรด้านความมั่นคงของประเทศ ปัญหาทางสังคมที่สำคัญๆ และปัญหาคนในองค์กรทั้ง 6 จำพวกใหญ่ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงของประเทศ รวมถึงปัญหาขององค์กร ดังนั้น การพัฒนาสังคมไปสู่สังคมข้อมูลข่าวสาร , สังคมแห่งความรู้ และสังคมอุดมปัญญา อาจจะไม่เพียงพอต่อภูมิคุ้มกันภัยทางสังคมในยุคปัจจุบัน
การพัฒนาองค์กรไปสู่สังคมแห่งปัญญา จึงเป็นทางออกทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางสังคมในยุคปัจจุบัน โดยเริ่มที่ปัญหาคนในองค์กรทั้ง 6 ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาคนในองค์กร เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคนไปสู่การเรียนรู้ด้วย “ ปัญญา ” ซึ่งหมายถึง ความรอบคอบ, ความรอบรู้, ฉลาด, ไตร่ตรอง, รู้ , รู้จัก ( โลก ) , สุขุม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปัญญาในการรู้จักตัวตน และสภาพความเป็นจริง มีการถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกภาคส่วนในสังคม ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ และใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการเลือก การตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนี้

1. พวกธุระไม่ใช่ พวกนี้เป็นถือเป็นกลไกสำคัญแต่ไม่ค่อยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมและองค์กรให้พัฒนาและเจริญก้าวหน้า เพราะจะคอยหาจังหวะโอกาสในการวางเฉย หรือหลีกเลี่ยงเรื่องที่ไม่ใช้เรื่องของตนเอง หรืออาจจะรวมถึงเรื่องของตนเองบางเรื่อง
ผู้บริหารและองค์กรควรจะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือเสริมสร้างจิตสำนึก การสร้างความตระหนักในหน้าที่และการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสังคมและองค์กร โดยการเผยแพร่ข่อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์กิจกรรม และการประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชยความดีงาม ทั้ง
งานในหน้าที่และการทำความดีต่างๆ เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา
2. พวกทำงานเอาหน้า พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงานหยิบโยง คอยฉวยโอกาส เป็นคนส่วนน้อยของสังคมและองค์กร แต่มักจะมีบทบาทสำคัญต่อผู้บริหาร ชอบออกรับหน้ารับงานจากผู้บริหารโดยตรง เพื่อจะได้สร้างโอกาสแสดงผลงานแทนผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง
ดังนั้น การกำหนดภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการทำงาน รวมถึงการพิจารณาคัดเลือกบรรจุคนให้เหมาะสมกับงาน จะต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ไม่มั่วนิ่ม เลือกใช้คนให้ตรงกับงาน และไม่ให้คนที่ไม่มีหน้าที่ หรือได้รับการมอบหมายงานมาแย่งงานทำ โดยเฉพาะงานสำคัญๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้บริหาร
3. พวกรู้แล้วไม่ทำ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนเก่ง ฉลาด หลักแหลม และเป็นประเภท “ นกรู้ ”รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเสี่ยง อะไรไม่เสี่ยง ทำแล้วได้อะไร? คนพวกนี้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคมและองค์กร จึงต้องเสริมสร้างแรงจูงใจ ให้คนเหล่านี้กลายเป็น “ พวกรู้แล้วทำ ” หรือ ให้ช่วยเอาความรู้ที่ตนมีอยู่นำไปถ่ายทอดให้คนอื่นรู้ตาม หรือนำไปทำตาม โดยที่ตนเองก็จะได้เครดิตจากการผลงานที่เกิดขึ้นทั้งที่จากตนเองทำ และผลงานที่ผู้อื่นเอาไปทำ
4. พวกไม่รู้ไม่ชี้ พวกนี้เป็นถือเป็นตัวถ่วงความเจริญของสังคมและองค์กร เพราะนอกจากจะไม่ค่อยได้ผลผลิตจากคนพวกนี้แล้ว ยังจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี หรืเป็นตัวชักจูงให้พวกอื่นๆ ทำตาม
การพัฒนาคนพวกนี้ ค่อนข้างจะใช้ความพยายามอย่างมาก โดยเริ่มที่การใช้ปัญญาในการรู้จักตัวตน และสภาพความเป็นจริง และต้องทำให้คนเหล่านั้นเกิดการยอมรับความเป็นจริง ว่าถ้ายังขืนเป็นตุ้มถ่วงเรือ หรือความเจริญของสังคมและองค์กร ก็มี 2 แนวทาง คือ จะโยนตุ้มถ่วงออกไป หรือจะพัฒนา ปรับปรุง ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น
5. พวกรู้แล้วไม่ชี้ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนเก่ง ฉลาด เช่นเดียวกับ พวกที่ 3 แต่แย่กว่า คือ ไม่ทำและไม่ชี้ อาจเป็นเพราะมีผู้บริหารขั้นเทพ หรือผู้บริหารไม่ปลื้มคนเก่ง หรือเป็นพวกชอบแสดงกึ๋นนอกเวที พอให้ชี้ ไม่กล้าชี้ พอไม่ให้ชี้ อยากจะชี้
ทั้งนี้มาจากพฤติกรรมของคนระดับสูงในสังคมและองค์กร เพราะฉะนั้นการเปิดช่องทางเพื่อการลดช่องว่างในการแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ แบบไม่ต้องเผชิญหน้ากัน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว
6. พวกไม่รู้ดันชี้ นับเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและองค์กรที่ประสบปัญหา ผู้บริหาร หรือ ฝ่ายอำนวยการ ที่ไม่ค่อยจะมีความรู้ ความสามารถ หรืออาจจะเก่ง หรือรู้ในบางเรื่อง แต่ชอบวางฟอร์มเป็นพหูสูต คือ รู้ดีไปหมด
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการบริหารจัดการองค์ความรู้ต่างๆ จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ จะเป็นช่องทางให้ผู้บริหาร หรือ ฝ่ายอำนวยการได้มีเวลาในการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง และทำการบ้านก่อนการพิจารณาตัดสินใจ หรือการนำเอาข้อมูลสารสนเทศ อาทิเช่น ข้อมูลคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถประสบการณ์ และผลงานของบุคคล เพื่อพิจารณาเลือกชี้ใช้งานให้คนตรงกับงานอย่างเหมาะสม โดยใช้สติปัญญา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมแห่งปัญญา

สรุปแล้วการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา จะต้องมุ่งพัฒนาที่คนเป็นหลัก โดยการทำให้คนในสังคมและองค์กรมีจิตสำนึก มีความตระหนัก มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบของสังคมและองค์กร การยกย่องชมเชย การส่งเสริมความเจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างความท้าทาย และแรงจูงใจ โดยการพิจารณาคัดเลือกบรรจุ ปรับเปลี่ยน เลื่อนชั้น เพื่อให้คนเหมาะสมกับงาน อย่างเป็นธรรม ตามระบบธรรมาภิบาล หรือระบบคุณธรรม แทนระบบอุปถัมภ์ หรือ ระบบเล่นพรรคเล่นพวก
การพัฒนาสังคมและองค์กร โดยการจัดการความรู้เพื่อถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งให้เกิดปัญญา การสร้างช่องทางเข้าถึงความรู้เพื่อพัฒนาคนให้มีความรู้มีปัญญาโดยสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย การเชื่อมโยงเครือข่ายความรู้เพื่อการกระจายความรู้ การลดช่องว่างระหว่างตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะ ศักดิ์ศรี และทิฐิของคนในสังคมและองค์กร
การพัฒนาทั้งสองส่วนหลักทั้งคนและสังคมหรือองค์กรก็จะเป็นแนวทางการพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา

ลิขสิทธิ์บทความของ emaginfo.com