จากปรากฏการณ์การรวมพลังของพลเมืองชาวเน็ตของไทยในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย Single Gateway ได้แสดงถึงศักยภาพและพลังอำนาจที่ไม่มีตัวตนด้านไซเบอร์ ซึ่งการที่ประเทศไทยจะนำเอา "Single Gateway" มาใช้นั้น ดูเหมือนว่าจะมีการพูดเรื่องนี้กันมาสักระยะหนึ่ง แต่เพิ่งจะเริ่มตื่นตัวกันจริง ๆ ไม่นานมานี้ หลังรัฐบาลเริ่มผลักดันการใช้ Single Gateway อย่างจริงจัง ทำให้หลายฝ่ายมีการถกเถียงถึงผลกระทบที่จะตามมาเลยเกิดเป็นปรากฏการณ์ต่อต้าน ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพ กล่าวถึงแนวทางการป้องกันภายหลังกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาลและหน่วยงานราชการด้วยวิธีการ DdoS ว่า แนวทางการป้องกันการโจมตีแบบ Ddos ด้วย CDN ( ContentDelivery Network ) เป็นหลักการ ซึ่งเหมาะกับเซิร์ฟเวอร์ ที่มีปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล และมีผู้ใช้บริการข้อมูลจำนวนมากตั้งแต่หลักล้านขึ้นไป ซึ่งจะต้องลงทุนสูงในการใช้เน็ตเวิร์คภายนอกองค์กร และอาจจะมองดูว่าขีดความสามารถขององค์กรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในระดับต่ำทำให้ขาดความเชื่อถือและความเชื่อมั่นของประชาชน และต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยจะเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล แต่องค์กรภาครัฐยังไม่สามารถปกป้องตนเองได้ ก็น่าเป็นห่วงในเรื่องนี้
พล.ต.ฤทธี กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการโจมตี Ddos ด้วยการใช้ Function F 5 ที่ผ่านมาปริมาณสูงสุดอยู่ที่หลักแสนต้นๆ ดังนั้นแนวทางการป้องกันแบบง่าย ๆ ด้วยตัวองค์กร และไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก สามารถดำเนินการได้เองคือ
1. การวางเซิร์ฟเวอร์ ไว้หลัง Firewall หรือใน DMZ(DeMilitalized Zone )
2. การขยาย Bandwidth ของเครือข่าย
3. การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องแม่ข่ายเพิ่ม CPU เพิ่ม RAM
4.การสร้างเว็บสำรอง
5. ถ้าจะประหยัดจริง ๆ ยังมีวิธีการในเรื่องการปรับจูนระบบ ทั้งด้าน S/W , H/W ที่ต้องมีการคำนวณ Load ทั้งการ Request, Concerrent , Page Memory ต่าง ๆ ทั้ง Application และ OS ว่าเราจะรับ Playloadได้จริงเท่าไหร่ ก่อนที่จะใช้วิธีการ พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์มาเพิ่ม
เรื่องของการออกแบบ Software Security คงต้องกลับมาทบทวนการดำเนินการอีกครั้ง ในเรื่องนี้หน่วยราชการไม่ค่อยให้ความสนใจ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางเป็นอย่างมาก เรามักจะติดตั้ง webserver กันง่ายแบบ Next อย่างเดียวโปรแกรมที่ติดตั้งก็เป็นCMS ซึ่งมีอะไรมากมายแฝงในนั้นเราก็ไม่รู้ และไม่เคยจะรับรู้ว่าเราต้องการคนเข้ามาชมเท่าไหร่ หรือรับปริมาณคนเข้าชมเท่าไหร่ ซึ่งเป็นการขาดในเรื่องการวางแผนจัดการด้านการพัฒนา S/W อย่างมาก
พล.ต.ฤทธี กล่าวต่อว่า จากปรากฏการณ์การรวมพลังของพลเมืองชาวเน็ตของไทยในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายซิงเกิ้ลเกตเวย์ ได้แสดงถึงศักยภาพและพลังอำนาจที่ไม่มีตัวตนด้านไซเบอร์ หากนำพลังอำนาจดังกล่าวนี้ไปใช้ในทางที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง เช่น การประชาสัมพันธ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม เอกลักษณ์ของชาติในด้านการท่องเที่ยว การรวมพลังต่อต้านการปฏิบัติการข่าวสารของผู้ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ การต่อต้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นภัยต่อสังคมไทย รวมถึงการจาบจ้วงสถาบันฯ โดยช่วยกันแจ้งเฟซบุ๊กที่เป็นภัยต่อสังคมไทย ก็จะเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง