สนพ. ร่วมมือกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ ประเทศเยอรมนี บูรณาการแผนอนุรักษ์พลังงาน 2015 และผลักดันนโยบายอนุรักษ์พลังงานให้เป็นรูปธรรม ....................................
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วมมือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ เยอรมัน เดินหน้านโยบายอนุรักษ์พลังงานของไทย (EEP 2015) ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคอาคารธุรกิจ เพื่อลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก เผยกลางปี’59 พร้อมส่งมอบผลงานและแผนงาน ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการความร่วมมือไทย - เยอรมัน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบูรณาการแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย (EEP 2015) ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคอาคารธุรกิจ อันจะส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 3 ปี และดำเนินกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับ EEP 2015 โดยเฉพาะมาตรการอนุรักษ์พลังงานใหม่ๆ ที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์และแนวทางการปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ
การประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าและผลงานของโครงการแก่คณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมและสมาคมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยกิจกรรมที่สำคัญภายใต้โครงการ ได้แก่ การจัดทำข้อมูลฐานและการบริหารข้อมูลพลังงาน ที่ได้พัฒนาดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับภาคเศรษฐกิจสาขาย่อยของภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารที่อยู่อาศัย และภาคขนส่ง ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนนโยบายและการติดตามประเมินผลการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ในส่วนของมาตรการภาคบังคับได้ศึกษา แนวทางมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยผู้ผลิตไฟฟ้า (Energy Efficiency Resources Standards, EERS) เป็นมาตรการใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ได้มีการดำเนินการแล้วในหลายประเทศ โครงการจึงได้พัฒนาคู่มือแนวทางการออกแบบมาตรการ EERS ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ซึ่ง ดร.อธิปัตย์ ได้เสนอให้ควรมีการดำเนินมาตรการนี้ภายใต้แนวคิดการทำ CSR โดยผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานก่อน เพื่อเป็นการนำร่องและติดตามผลการดำเนินงานก่อนที่จะนำสู่การขยายผลต่อไป
นอกจากนี้ โครงการยังได้มุ่งเน้น การเสริมสร้างศักยภาพด้านการดำเนินงานของบริษัทจัดการพลังงาน(Energy Services Company, ESCO) ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งในภาคอาคารและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยโครงการฯ ได้นำเสนอรูปแบบ ESCO Facilitation ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้หน่วยงานที่เป็นกลางเข้ามาประสานงานกับ ESCO เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้กลุ่มงาน ESCO จะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มงาน การบูรณาการแผนอนุรักษ์พลังงานเข้ากับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลงานหลักคือ การศึกษาและพัฒนาร่างข้อเสนอการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMA) สำหรับมาตรการสนับสนุน ESCO และกลไกทางการเงินที่สามารถช่วยพัฒนาตลาด ESCO ในประเทศไทย ที่สามารถดำเนินการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศต่อไป
สำหรับกลุ่มงานสุดท้าย คือ เรื่อง การพัฒนาปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นตามเทคโนโลยี โดยเสนอให้มีการเชื่อมโยงการยกระดับอาคารกับฉลากอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงด้วย ซึ่งในกลุ่มงานนี้ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาร่าง “คู่มือแนวทางการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงประสิทธิภาพสูงเชิงสถาปัตยกรรม” ที่ได้พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และสมาคมสถาปนิกสยาม โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งทางโครงการฯ จะตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ก่อนการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเป็นภาษาไทย และจะนำไปเผยแพร่ต่อสถาปนิกและประชาชนทั่วไปที่สนใจต่อไป
อย่างไรก็ดี โครงการความร่วมมือไทย - เยอรมันฯ ยังต้องดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนถึงกำหนดสิ้นสุดโครงการในกลางปี 2559 และมีแผนการส่งมอบผลงานกิจกรรมทุกกลุ่มงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและความสัมฤทธิ์ผลของแผนอนุรักษ์พลังงานในระยะกลางและระยะยาวต่อไป
........................................................................
ข้อมูลเพิ่มเติม:
โครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
ชั้น 3 121/1-2 ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
T +662 612 1171-2F +662 612 1151
Website: www.thai-german-cooperation.info/project/content/7
Facebook: www.facebook.com/TGPEEDP