พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือกับคณะทำ
งานคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (กลุ่ม 11 การศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2559 ที่ห้องฟอร์จูน 2
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการศึกษาด้วย (กลุ่ม 11) เพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นวาระแห่งชาติ(National Agenda) ที่ทั้งภาคเอกชนควรร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาผู้นำด้านการศึกษา
ในส่วนของการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาควรมีการเปลี่ยนแปลงจากแบบเดิมใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ
1) ความโปร่งใส คือ การใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียนต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมทั้งผลการสอบก็ต้องสามารถตรวจสอบออนไลน์ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องวัดศักยภาพของผู้อำนวยการสถานศึกษาว่ามีความสามารถในการดำเนินการให้โรงเรียนมีความโปร่งใสได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ หากภาคเอกชนและกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกันสร้างผู้นำที่มีคุณธรรม มีศักยภาพ และมีความโปร่งใสแล้ว ผู้นำเหล่านี้ก็จะเป็นผู้บริหารที่ดีของโรงเรียนได้
2) การเรียนแบบโต๊ะกลม (Roundtable Study) ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในปัจจุบันภาคเอกชนพบว่าพนักงานที่รับเข้ามาทำงาน ไม่มีความคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ภาคเอกชนจะทำให้พนักงานเหล่านี้มีความคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น ภาคเอกชนและกระทรวงศึกษาธิการต้องผนึกกำลังกันสร้างนักเรียนที่มีจินตนาการและมีมุมมองที่หลากหลาย ไม่ใช่สร้างนักเรียนที่จำเก่งที่สุด แต่ควรส่งเสริมให้ครูและนักเรียนได้ทำกิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อดึงศักยภาพของนักเรียน ด้วยการนำระบบการเรียนแบบโต๊ะกลมมาใช้
3) การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคเอกชน ควรส่งเสริมให้ชุมชน ผู้ปกครอง และภาคธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมเชิงบูรณาการในระบบการศึกษามากขึ้น เนื่องจากระบบการศึกษาไทยยังเป็นระบบเสิร์ฟถึงปาก (Spoon Feed) จึงต้องสนับสนุนให้ชุมชน ผู้ปกครอง ภาคเอกชน เห็นความสำคัญด้านการศึกษาและมีส่วนร่วมกับการศึกษามากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและงบประมาณให้กับโรงเรียน เพราะการพัฒนาโรงเรียนไม่สามารถใช้งบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวได้ และเมื่อโรงเรียนได้รับเงินบริจาคไปแล้ว จะต้องนำเงินบริจาคไปใช้อย่างโปร่งใสด้วยเช่นกัน เพราะหากผู้บริจาคได้รู้ว่าเงินที่บริจาคนั้นถูกนำไปใช้ในกิจกรรมการศึกษาด้านใดบ้าง ก็จะทำให้ผู้บริจาคต้องการมีส่วนร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น
4) ความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม การสอนให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีคุณธรรมนั้นไม่สามารถสอนจากตำราอย่างเดียวได้ ต้องมีวิธีการสอนแบบอื่น เช่น Action Learning และ Community Service คือการให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การเข้าไปช่วยเหลือมูลนิธิต่างๆ เพราะการที่เด็กได้เข้าไปสัมผัสด้วยตัวเองจะเกิดการซึมซับความไม่สมบูรณ์ทางสังคม เปรียบเสมือนเป็นอาจารย์ที่ดีที่สุดในการสอนเรื่องคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
ในส่วนของการศึกษาระดับอุดมศึกษา เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษามากขึ้นตามแนวโน้มของเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Robotics, Nanotechnology, Biotechnology และ Digital Technology
อีกประเด็นหนึ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ คือ การลงทุนด้านการศึกษาเนื่องจากมีเด็กไทยจำนวนมากที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในเวทีระดับนานาชาติ แต่ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว เด็กเหล่านี้จะกลายเป็นพนักงานธรรมดา เพราะไม่มีเวทีให้แสดงความสามารถและศักยภาพ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการสร้าง Lab Facility โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งภาคเอกชนมีความเชื่อว่าหากเรากล้าลงทุนด้านการศึกษา ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของภูมิภาคในด้านการศึกษา
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ กลุ่ม 11 จะรวบรวมประเด็นการหารือทั้งหมดและจัดทำเป็นรูปแบบ (Model) เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการในการพิจารณาถึงความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกับภาคเอกชนต่อไป
ที่มา:
http://www.moe.go.th/websm/2016/jan/005.html