บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ
ซีพีเอฟ แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อยครบวงจรป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนก ยึดแนวทาง “วิธีที่ดีที่สุดคือต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” ลดความเสี่ยงจากฤดูกาลอพยพย้ายถิ่นของฝูงนกแก่เกษตรกรในประเทศไทย พร้อมเปิดสำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บกให้บริการสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพสัตว์และขอคำแนะนำอย่างครบวงจร
น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผย ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม เป็นช่วงการอพยพย้ายถิ่นของฝูงนกจากฤดูกาลของเขตหนาวในซีกโลกเหนือมายังประเทศที่มีเขตอบอุ่น ดังเช่นประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ปีก ซีพีเอฟจึงแนะนำเกษตรกรใช้มาตรการ “การป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” และ “การเลี้ยงด้วยวิธีที่ถูกต้อง” ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
น.สพ.นรินทร์ แนะข้อควรปฏิบัติสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อย เช่น เป็ดไร่ทุ่ง และไก่บ้านในช่วงนี้ว่า ควรนำสัตว์ปีกเข้าไปเลี้ยงภายในโรงเรือนที่มีตาข่ายปิดมิดชิดและมีหลังคาคลุม เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกจากฝูงนกอพยพ ควบคู่กับการให้น้ำของสัตว์ปีกจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 ppm หรือ ปริมาณน้ำ 1,000 ลิตรใช้คลอรีนออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 กรัม รวมไปถึงการพ่นยาฆ่าเชื้อในกลุ่มกลูตาราลดีไฮด์เป็นประจำทุกวัน ที่สำคัญควรมีรองเท้าบูทสำหรับใส่ภายในโรงเรือนโดยเฉพาะ
“สำหรับเกษตรกรที่สงสัยว่าสัตว์ปีกของตนเองเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค โดยสังเกตจากการตายผิดปกติเกินร้อยละ 1 ของสัตว์ปีกทั้งฟาร์มต่อวัน สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟเพื่อลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์และนำมาส่งตรวจที่สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก โดยจะทราบผลภายใน 1-2 วัน ด้วยหวังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดไข้หวัดนกของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” น.สพ.นรินทร์ กล่าว
ด้วยมาตรการควบคุมและป้องกันที่เข้มแข็งทำให้ซีพีเอฟได้รับการยอมรับในระดับสากลในมาตรการการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนก 100% ตั้งแต่ต้นทางจนสู่มือผู้บริโภค และก้าวเป็นผู้นำในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกใน “ฟาร์มระบบปิด” ตลอดจนการนำระบบ “คอมพาร์มเมนต์” ที่บริษัทนำมาประยุกต์ใช้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมรายแรกของไทยตามแนวคิดขององค์กรการโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ภายใต้การจัดการสุขาภิบาลป้องกันโรคที่ดีควบคู่กับความสามารถตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิต
“จากความร่วมมือของบริษัท กรมปศุสัตว์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาแนวทางป้องกันและจัดการกับปัจจัยเสี่ยงของโรคไข้หวัดนก ตามแนวคิด OIE ทำให้ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันประเทศไทยปราศจากการระบาดของไข้หวัดนกอย่างแท้จริง” น.สพ.นรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพสัตว์และขอคำแนะนำอย่างครบวงจรได้ที่สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โทร.0-2988-0670 ในเวลาทำการตั้งแต่ 08.30-18.00 น.
เครดิต บ้านเมือง online
(http://www.banmuang.co.th/news/region/39891)