- ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนที่ใช้ต้นทุนไม่สูง ช่วยให้ผลิตวัคซีนได้มากขึ้น
- วางแผนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนแห่งใหม่ในประเทศกานา เพื่อช่วยให้ทวีปแอฟริกาสามารถรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพได้ดีขึ้น
เมอร์ค (Merck ) บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ ประกาศสร้างความร่วมมือกับสถาบันเจนเนอร์ (Jenner Institute ) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศกานา ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการยกระดับสาธารณสุขทั่วโลก ด้วยการทำให้วัคซีนมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
อูดิท บาทรา สมาชิกคณะกรรมการบริหารของเมอร์ค และซีอีโอกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “การสร้างความร่วมมือกับสถาบันเจนเนอร์จะช่วยให้ทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนราคาไม่แพง และช่วยยกระดับการรับมือกับการระบาดของโรคด้วย เมอร์คมุ่งยกระดับการเข้าถึงยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เราได้จับมือกับพันธมิตรหลายรายเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนในปัจจุบัน และช่วยแก้ปัญหาที่ยากที่สุดในอนาคต”
เมอร์คและสถาบันเจนเนอร์จะช่วยกันยกระดับกระบวนการผลิตวัคซีนอะดีโนไวรัส (วัคซีนที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ) โดยใช้ผลิตภัณฑ์ ระบบ และเทคโนโลยี feed stream ของเมอร์ค โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่ใช้ต้นทุนไม่สูงและสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาและผลิตวัคซีนทั่วโลกมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
เอเดรียน ฮิลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเจนเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “เมอร์คเป็นพันธมิตรชั้นยอดที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของเราในการพัฒนาวัคซีนอะดีโนไวรัส เราเชื่อว่ากระบวนการผลิตที่พัฒนาขึ้นใหม่จะมีผลิตภาพและความบริสุทธิ์เทียบเท่าหรือสูงกว่ากระบวนการผลิตที่ใช้อยู่เดิม”
ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตแบบปิดในห้องปลอดเชื้อเพื่อให้มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสำหรับการผลิตวัคซีนจากไวรัส
คุณฮิลล์กล่าวเสริมว่า “ความก้าวหน้าในครั้งนี้จะช่วยยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาฉีดเกรดคลินิก เพื่อใช้ในการทดสอบทางคลินิกและการวิจัยต่างๆ”
เมอร์คเตรียมสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในกานา
ขณะเดียวกัน เมอร์คกำลังวางแผนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศกานา เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพในทวีปแอฟริกา ซึ่งต้องนำเข้าวัคซีนมากถึง 99% จากทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ โดยเมอร์คได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัท ริดจ์ แมเนจเมนท์ โซลูชั่นส์ (Ridge Management Solutions ) เพื่อผลักดันให้กานาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราที่มีโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับมนุษย์โดยเฉพาะ
คุณบาทรากล่าวเสริมว่า “เราต้องการสนับสนุนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยการแบ่งปันความเชี่ยวชาญของเรา เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตของประเทศเหล่านี้ พร้อมกับสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างโรงงานผลิตภายในประเทศ”
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือระหว่างเมอร์คกับพันธมิตรในแวดวงวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายที่สุดในการผลิตวัคซีน สามารถดูได้ที่ www.merckmillipore.com/vaccines
เกี่ยวกับสถาบันเจนเนอร์
สถาบันเจนเนอร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคที่มีการระบาดทั่วโลก ทั้งโรคในคนและสัตว์ พร้อมกับทำการทดสอบวัคซีนใหม่ในสปีชีส์ต่างๆ ทางสถาบันมุ่งเน้นงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยเฉพาะการพัฒนาระยะเริ่มต้นและการประเมินผลวัคซีนใหม่ๆ ในการทดลองทางคลินิก
ทางสถาบันมี นักวิจัยหลัก กว่า 30 คน เป็นผู้นำทีมนักวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับคนและสัตว์หลายต่อหลายโครงการ โดยสถาบันเจนเนอร์ดำเนินกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั้งหมด
นักวิจัยของสถาบันเจนเนอร์กำลังพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ สำหรับป้องกันโรคติดเชื้อทั่วโลก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากผู้สนับสนุนหลายราย ปัจจุบัน วัคซีนตัวใหม่สำหรับป้องกันมาลาเรีย วัณโรค และเอชไอวี กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนามในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นยังมีการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์ โรคไข้หวัดนก วัณโรคในโค และโรคอื่นๆที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ
สถาบันเจนเนอร์เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford ) กับสถาบันเพอร์ไบรท์ (The Pirbright Institute ) โดยรับช่วงต่อจากสถาบันวิจัยวัคซีนเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ทั้งนี้ สถาบันเจนเนอร์ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวัคซีนเจนเนอร์ (Jenner Vaccine Foundation ) ซึ่งจดทะเบียนในสหราชอาณาจักร และมีคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของสถาบันเจนเนอร์ (Jenner Institute Scientific Advisory Board ) เป็นที่ปรึกษา