ปัจจุบันหากเราลองสังเกตจะพบว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อย เริ่มหันมาใส่ใจในสุขภาพของตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการรักษาสุขภาพมากขึ้นไปด้วย เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าปัจจุบัน
“ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม” เป็นสิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อวงการสุขภาพ แล้ว
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปี 1994 โดยให้นิยาม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ว่าเป็น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในรูปเม็ด แคปซูลหรือของเหลวที่มีส่วนผสมของสารอาหารอย่างน้อย 1 ชนิด (วิตามิน แร่ธาตุ สมุนไพร กรดอะมิโน หรือสารอาหารที่รับประทานเพื่อเพิ่มปริมาณสารอาหารให้กับร่างกาย) ไม่ได้ใช้เป็นอาหารหรือแทนมื้ออาหาร
ในปี 2012 CRN (Council for Responsible Nutrition) รายงานว่า 2 ใน 3 ของชาวสหรัฐอเมริกาวัยผู้ใหญ่ รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเติมสารอาหารที่ขาดให้กับร่างกาย อัตราการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีรายงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งด้านดีและไม่ดีเกิดขึ้นตามมา
US FDA แยกกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกจากอาหารทั่วไปและวัตถุเจือปนอาหาร และให้ความสำคัญในการพิจารณาร่วมกันเพราะสารเหล่านี้บางครั้งจะแสดงฤทธิ์คล้ายยา แม้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายตัวจะมีการใช้มานานและเชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางตัวกลับไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยต่อสุขภาพ และบางตัวยังส่งผลเสีย เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
บทวิจัยทางวิชาการมีการพูดถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใน 4 ด้านที่ควรนำมาพิจารณา ดังนี้
1. คุณภาพ
จาก DSHEA (Dietary Supplement Health and Education Act) ที่ออกมาในปี 1994 ได้แยกประเภทและการควบคุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกจากอาหารทั่วไปและระบุว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่เหมือนตำรับยาที่ต้องได้รับการอนุมัติตรวจสอบก่อนออกสู่ตลาด
โดยกำหนดให้ความปลอดภัย ความถูกต้องและมีประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต แต่ต่อมาในปี 2007 FDA ได้ออก GMP สำหรับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งครอบคลุมการควบคุมคุณภาพ สูตรส่วนประกอบ ความแรง และความบริสุทธิ์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม รวมทั้งกำหนดให้ระบุข้อมูลตามข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานที่ FDA กำหนด
อย่างไรก็ตามในการพัฒนาการควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ขั้นแรกในการตรวจสอบคือการกำหนดวิธีแยกแยะระบุสารอาหาร
ซึ่งการค้นหาสารอาหารในพืชถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะส่วนประกอบของพืชมีหลายส่วนแม้ใช้กรรมวิธีการผลิตที่แน่นอนแล้วก็ตาม อีกทั้งมีวิธีการผลิต การสกัดและการผสมที่แตกต่างกัน
2. ความปลอดภัย
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอดภัยต้องไม่มีสารที่อันตรายหรือสารที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเลือกใช้สารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและไม่มีสารปนเปื้อน มีการตรวจสอบสารอาหารที่ใช้และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตเรียบร้อยแล้ว
การนำสารอาหารที่มาจากธรรมชาติ มาใช้ในการดูแลสุขภาพโดยรวม มีวิธีการศึกษาที่แตกต่างกันและซับซ้อนกว่าการใช้สารอาหารเชิงเดี่ยว และมีการใช้ในปริมาณที่มากกว่า
3. ประสิทธิภาพ
การพูดถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขึ้นกับการทดลองกลไกการออกฤทธิ์ต่อคนหรือสัตว์ การวิจัยในห้องทดลอง รวมถึงการศึกษาประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และหลักฐานการวิจัย ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องตรวจวัดการออกฤทธิ์และการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายด้วย
4. การแปลหลักฐานหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
เป็นการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาแปลเป็นการแนะนำในการรับประทาน กฏเกณฑ์ หรือแนวทางในการดูแลสุขภาพ และการสนับสนุนคุณประโยชน์ที่เป็นเหตุผลจำเพาะของสารอาหารแต่ละรายการ
ทั้งนี้พบว่ามีความเห็นของผู้คนในวงกว้างตรงกันถึงความจำเป็นในการแปลข้อมูลหลักฐานในทางวิทยาศาสตร์ ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ออกมาเป็นคำแนะนำ กฏข้อบังคับหรือนโยบาย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่บรรดาผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในทางสาธารณสุข
ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เกิดสารอาหารใหม่ๆที่ไม่เคยมีการระบุว่าเป็นสารที่ปลอดภัย และยังไม่มีการศึกษาผลในระยะยาว ข้อดีและข้อเสียของการรับประทาน
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ในการเสริมสารอาหารให้กับร่างกายจึงควรพิจารณาและเลือกสรรอย่างดี
บทความดีๆ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี
“Your Wellness, Our Commitment”
Reference:
Sax J.K. Dietary Supplements are Not all Safe and Not all food: How the Low Cost of Dietary Supplements
Preys on the Consumer, American Journal of law & Medicine. 2015; 41: 374-394.
Wheatley V.M. and Spink J. Defining the Public Health Threat of Dietary Supplement Fraud, Comprehensive
reviews in food science and food safety. 2013.
Dwyer J.T., Coates P.M. and Smith M.J. Dietary Supplements: Regulatory Challenges and Research Resources,
Nutrients. 2018; 10-41.
Halsted C.H. Dietary supplements and functional foods: 2 sides of a coin?, American Journal of Clinical
Nutrition. 2003; 77: 1001S-7S.