ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ได้สร้างผลกระทบรุนแรงมากมายและมหาศาลให้กับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า แวดวงการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตที่เกิดจากเทคโนโลยีเช่นกัน เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป นักเรียน นักศึกษาเรียนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในห้องเรียน จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง และสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ทำให้การพึ่งพาการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยลดน้อยลง
มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ถือเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่โดดเด่นในเรื่องการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งยังเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยม ที่นักเรียนทั่วประเทศสนใจเข้ามาศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก “มติชน” จึงจับเข่าคุยกับ “รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล” อธิการบดีคนใหม่ของ มข. พูดคุยถึงปัญหาของมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน และวิสัยทัศน์ทิศทางการบริหารงานของ มข. ว่าอีก 4 ปีข้างหน้ามข.จะมุ่งพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอย่างไร
โดย รศ.นพ ชาญชัย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสร้างผลกระทบอย่างมากให้กับ มข.และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนนักเรียนเข้าเรียนน้อยลง จำนวนที่นั่งมีมากกว่านักเรียน 3-4 หมื่นที่นั่ง แต่มข. ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ เป็นไปตามเป้าหมาย ยกเว้นในสาขาวิชาด้านกฎหมาย และการประมง ในวิทยาเขตหนองคาย ที่รับนักศึกษาได้ไม่ตามเป้า แต่ที่ได้รับผลกระทบคือระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่ผู้สมัครเรียนลดน้อยลง
ดังนั้นทิศทางการดำเนินงานต่อไปของ มข.จะเน้นการวิจัยและพัฒนา การอุทิศเพื่อชุมชนและสังคม มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ การเสริมสร้างความก้าวหน้าและยั่งยืน โดยบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด “KKU Transformation” เมื่อมหาวิทยาลัยมีมากกว่าจำนวนนักเรียน และความรู้ได้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มข.จะพัฒนาหลักสูตรเดิมสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ (Flipped classroom) เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Experiential learning) โดยเน้นให้มีสื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่เพียงพอ ปรับเนื้อหาของหลักสูตรให้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ เน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต (Future skills) โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น E-commerce, AI, Big data, Data science และ IOT นอกจากนี้ยังสร้างหลักสูตรใหม่ตามความต้องการของสังคมและมีหลักสูตรสำหรับประชาชนทุกอายุ เช่น AI programmer, Blockchain programmer, Data science, Machine learning, AI, Robotic engineering, Mechatronics เป็นต้น และที่สำคัญคือการสร้างหลักสูตรสำหรับประชาชนเพื่อรองรับเทคโนโลยีในการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยจัดการเรียนรู้เป็นชุดวิชา ซึ่งมีทั้งที่ต้องการปริญญา และไม่ต้องการปริญญา สามารถเรียนรู้ในหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัยและการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งสามารถเรียนได้ ทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกคน มีระบบให้ผู้เรียนสามารถสะสมชุดวิชาเพื่อรับปริญญาในภายหลังได้
มข.มีแผนที่จะเปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ และพัฒนาหลักสูตรด้านบล็อกเชน หรือนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานภายในมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาหลักการพัฒนาหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถเปิดสอนได้ โดยทำงานร่วมกับหมาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น คาดภายใน 2 ปี จะสามารถเปิดหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ได้ ส่วนจะเป็นการเปิดสอนในระดับชั้นปริญญาตรี หรือหลักสูตรระดับปริญญาโท หรือเรียนในลักษณะอื่น ต้องหารืออีกครั้งหนึ่ง
หลายส่วนกังวลว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบนี้ หลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ จะออกมาทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ มองว่าปัญญาประดิษฐ์จะอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ไปอีก 10 ปี เป็นอย่างต่ำ และอีก 50-100 ปี หุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งมองว่าหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ ที่มข. กำลังจะเปิดจะทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างแน่นอน
มหาวิทยาลัยยังสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยจัดทำโครงการที่เป็นเรือธงในการพัฒนา (Flag ship projects) ที่เป็นความร่วมมือของคณะและหน่วยงานที่จะทำงานร่วมกันที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ และเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาแต่ละคณะ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.โครงการศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical hub) 2.โครงการฟาร์มอัจฉริยะ (Smart farming) เป็นโครงการหลักสำหรับกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3. โครงการศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์และชุมชนสัมพันธ์ เป็นโครงการหลักสำหรับคณะในกลุ่มสังคมศาสตร์ที่จะมาทำงานร่วมกันเพื่อศิลปวัฒนธรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน
ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่มองเห็นความหวังว่า มข. จะสามารถก้าวข้ามวิกฤต
อุดมศึกษาไทย สามารถอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป ทั้งนี้ รศ.นพ ชาญชัย ยังได้ฝากความหวังการศึกษาไทยไว้กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ว่าอยากให้มุ่งพัฒนานักเรียน โดยมุ่งให้นักเรียนมีความรู้ สามารถตั้งคำถาม เน้นการปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้มากกว่าเรียนเพื่อท่องจำ และครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน เพราะปัจจุบันบางเรื่อง นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าครู ครูต้องเปิดใจ และมุ่งสอนนักเรียนให้เป็นคนเก่งกว่าตนเอง
ส่วนการเกิดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าสร้างกระทรวงต่อไป ทั้งนี้คาดหวังกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมฯ คนใหม่ และรัฐบาลใหม่ขอให้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยบ้าง โดยไม่ต้องแยกว่าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ เพราะมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องการงบประมาณเพื่อพัฒนา สนับสนุนทุนวิจัย เพื่อสามารถเพิ่มอันดับในการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยโลก หรือ QS University Rankings และอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ร่วมวางแผนกับมหาวิทยาลัยเพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้
ข้อมูล https://www.matichon.co.th/education/news_1437451