ปัญหาที่เกิดขึ้นใต้ท้องทะเลอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายคน การฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างยั่งยืนนั้นยิ่งดูเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ดูจะใหญ่เกินกำลังนี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง “โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล” เกิดขึ้นท่ามกลางความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งนอกจากจะประสบความสำเร็จ คืนความสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกันได้อีกด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2553 น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงเกิน 30.5 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” (coral bleaching) ขึ้นมา
เมื่อน้ำทะเลร้อน ปะการังตาย ผลกระทบจึงส่งต่อเป็นลูกโซ่แก่ชีวิตอื่น ๆ เพราะแนวปะการังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และแหล่งหลบภัยของสัตว์ทะเล ซึ่งเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศของธรรมชาติใต้ท้องทะเล มาจนถึงมนุษย์ ที่ต้องพึ่งพาทะเลทั้งการประมงและการท่องเที่ยว เป็นอาหาร อาชีพ และรายได้ของคนจำนวนมาก
หนึ่งในแนวคิดที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้ประชุมร่วมกันที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปีนั้น คือ “การสร้างแหล่งดำน้ำโดยมนุษย์” (man-made dive site) เพราะจากการศึกษาพบว่า หากแนวปะการังบริเวณใดได้รับความนิยมในการดำน้ำมาก ผลกระทบต่อปะการังย่อมสูงตามไปด้วย ส่วนการปิดจุดดำน้ำหรือประกาศห้ามการท่องเที่ยวตามแนวปะการังก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนในท้องถิ่น และธุรกิจท่องเที่ยวด้วย
ดังนั้น การสร้างจุดดำน้ำแห่งใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อลดความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว จะช่วยให้แหล่งดำน้ำอื่นๆ มีโอกาสฟื้นตัว
ปตท.สผ. ในฐานะองค์กรหนึ่งที่เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนให้เกิดการนำเรือหลวงมาใช้ เพื่อทำแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล บริเวณจังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กองทัพเรือ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตัวแทนผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กองทัพเรือได้สนับสนุนเรือหลวง 2 ลำ คือ “เรือหลวงปราบ” และ “เรือหลวงสัตกูด” ด้วยเกียรติภูมิ และขนาดของเรือเหมาะสมสำหรับการสร้างเป็นแหล่งดำน้ำ ซึ่งกติกาสำคัญของการเลือกพื้นที่วางเรือ คือต้องช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับแนวปะการังได้จริง อยู่ในตำแหน่งที่นักดำน้ำสามารถเดินทางมาได้สะดวก ไม่ไกลจากแนวปะการังธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวเดิมมากนัก สภาพกระแสน้ำ ความขุ่น ลักษณะพื้นท้องทะเล และจำนวนชนิดของสัตว์น้ำต่างๆ จนมาลงเอยที่ “เกาะเต่า” และ “เกาะง่ามน้อย” ที่ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่วางเรือหลวงทั้ง 2 ลำ
การวางเรือที่เกาะเต่า ได้เลือกตำแหน่งบริเวณใกล้กองหินขาว จุดดำน้ำสำคัญทางทิศตะวันตกของเกาะ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เกาะติดจำนวนมาก เช่น ปะการัง เห็ดทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ปะการังดำ ฟองน้ำ ฯลฯ
ส่วนเกาะง่ามน้อย เป็นเกาะสัมปทานนกนางแอ่นมีผาหินปูนสูงชัน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาจำนวนมหาศาล และเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ โดยได้มีการวางเรือทั้ง 2 ลำในปี 2554
หลังจากนั้น ได้มีการศึกษาวิจัยความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเลที่เข้ามาอาศัย ทั้งก่อน และหลังการวางเรือหลวงทั้ง 2 ลำ ได้แก่ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อติดตามปริมาณตะกอนฟุ้งกระจาย ซึ่งผลการศึกษายืนยันว่าไม่พบผลกระทบต่อพื้นท้องทะเล สัตว์เกาะติดและปลาทะเลยังคงมีสภาพเดิม รวมทั้ง ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสัตว์เกาะติดและประชากรปลา พบฝูงปลามงเข้ามาว่ายวนเวียน
ผ่านไป 1 ปี มีปลาเพิ่มมากกว่า 40 ชนิด และปีต่อๆ มา เพิ่มเป็นมากกว่า 60 ชนิด รวมถึงปลาหายาก อย่างเช่น ปลาเก๋าดอกหมาก ปลาหมอทะเล และปลาสาก โดยเฉพาะบริเวณเรือหลวงปราบ จะพบฉลามวาฬได้อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับสัตว์เกาะติด มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ฟองน้ำเคลือบ และปะการังดำ ซึ่งเป็นสัตว์พันธุ์เด่น (Dominant Species)
ในด้านการศึกษาด้านการใช้ประโยชน์และการจัดการแหล่งดำน้ำเรือหลวง พบว่าการใช้เรือหลวงเป็นแหล่งดำน้ำแทนแนวปะการังนั้นได้ผลดีมาก เป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และเพิ่มพื้นที่ลงเกาะแก่ตัวอ่อนปะการัง รวมทั้ง มีเรือและนักดำน้ำแวะเวียนมาดำน้ำในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ใต้ทะเล ที่ทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างมาดำน้ำเพื่อสัมผัสคุณค่าความงดงาม
นอกจากความอุดมสมบูรณ์ใต้ท้องทะเลที่เกิดขึ้นแล้ว ในด้านผลตอบแทนทางสังคม (Social Return of Investment หรือ SROI) ของโครงการนี้ พบว่าสามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคมได้สูงถึง 5.34:1 ซึ่งหมายความว่า ความสำเร็จจากการวางเรือหลวงปราบ และเรือหลวงสัตกูดให้เป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่นี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ถึง 5.34 เท่า หากเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ ปตท.สผ. ดำเนินโครงการดังกล่าว
ในระยะแรก พบว่าชุมชนและผู้ประกอบการมีรายได้จากกิจกรรมดำน้ำ การสอนดำน้ำ โรงแรมและที่พัก และอื่น ๆ ปีละกว่า 59 ล้านบาท จนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการกว่า 413 ล้านบาท
นับเป็นความภาคภูมิใจของ ปตท.สผ. ที่ผลลัพธ์โครงการที่ไม่ได้เพียงฟื้นฟูและรักษาทะเลไทยได้ตามความมุ่งหมายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชุมชนโดยรอบเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กันได้อีกด้วย
รางวัลระดับนานาชาติของโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล
รางวัลระดับทอง ประเภทโครงการด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่น (Best Environmental Excellence Award) ในงาน The 10th Annual Global CSR Summit and Awards and the Global Good Governance Awards 2018 อินโดนีเซีย
รางวัลชนะเลิศ ประเภทผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม (Green Leadership) ในงาน Asia Responsible Enterprise Awards 2018 ฟิลิปปินส์
รางวัลระดับเงินด้าน Innovation in Community Relations ในงาน Asia – Pacific Stevie Awards 2019 สิงคโปร์
รางวัล Best CSR Campaign ในงาน Global Good Governance (3G) Awards 2019 อินโดนีเซีย
ข้อมูล https://www.thebangkokinsight.com/201573/