การเดินทางวันนี้เริ่มต้นจากหมู่บ้านญี่ปุ่นที่อยู่ตรงหน้าฉัน นี้เหมือนหมู่บ้านจริงๆ ฉันหมายถึงหมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่ ด้วยการตกแต่งที่ดูไม่เหมือนสถานที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อย่างที่ฉันคิดไว้ว่าน่าจะดูเก่า หรือไม่ก็ดู “ขลัง” มากกว่านี้ แต่ที่นี้กลับสร้างให้ดูโมเดิร์น ผสมความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างลงตัวด้วยต้นไผ่ที่ปลูกรายล้อมบริเวณ ธงปลาคาร์ฟที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า โคอิโนโบริ ปลิวไสวอยู่ข้างหลังแผ่นป้ายหมู่บ้านสีดำ ถ้าฉันจำไม่ผิด ธงปลาคาร์ฟนี้จะติดกันในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเด็กของญี่ปุ่น แต่ก็เอาเถอะ ที่นี่ประเทศไทย และทางหมู่บ้านก็คงจะเอามาติดเพื่อตกแต่งเท่านั้น
จุดขายบัตรเป็นป้อมเล็กๆ ห่างจากแผ่นป้ายหมู่บ้านไม่ไกลนัก ฉันฝากหน้าที่ในการซื้อบัตรให้เป็นของเพื่อนๆที่มาด้วยกัน เพราะป้ายข้างๆ ดึงดูดความสนใจฉันได้มากกว่า “VR Japanese Village” ตัวอักษรบนแผ่นป้ายเขียนไว้ว่าอย่างนั้น ประกอบกับภาพโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้ฉันเข้าใจว่าคงจะเป็นแอพพลิเคชั่นบางอย่างที่ทำขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยวหมู่บ้านญี่ปุ่นนี้ น่าเสียดายที่ฉันไม่ได้ลองใช้ เพราะเน็ตโทรศัพท์ไม่ค่อยอำนวยเท่าไร ฉันจึงตัดใจและเดินตามคนอื่นๆ ไป
ห้องแรกที่เจ้าหน้าที่ยืนต้อนรับอยู่มีลักษณะเหมือนโรงหนังขนาดหย่อม ภายในไฟถูกเปิดไว้สลัวๆ คนภายในห้องทุกคนจับจ้องไปที่หน้าจอซึ่งแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการเข้ามาสู่อยุธยาของคนญี่ปุ่น การสานสัมพันธ์เพื่อการค้าขาย ไปจนถึงการอยู่อาศัยตั้งรกรากในอยุธยา จนมีหลักฐานสืบต่อมา และสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่นที่เราอยู่กันตอนนี้ ซึ่งสมาคมไทย – ญี่ปุ่น สร้างหมู่ขึ้นเพื่ออนุรักษ์และปรับปรุงให้เป็นอนุสรณ์แห่งหมู่บ้านญี่ปุ่นเดิม ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็น และรู้ความมีตัวตนของหมู่บ้านนี้ โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทั้งไทยและญี่ปุ่น (museumsiam.org)
เดินออกจากห้องโรงหนังขนาดเล็กมาสู่ห้องใหญ่ตรงกลาง ทุกส่วนในห้องนี้เป็นการจัดแสดงทั้งหมด ฉันเริ่มจากการอ่านข้อมูลที่อยู่ทุกทิศของผนัง ทั้งความเป็นมาของบ้านญี่ปุ่นที่ตามหลักฐานน่าจะมีตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรรมหาราช เป็นชุมชนเล็กๆ ของพ่อค้าเรือสำเภาญี่ปุ่นที่ตั้งคลังสินค้าเพื่อรวบรวมสินค้าไว้ ผนังอีกด้านหนึ่งเต็มไปด้วยตัวหนังสือละลานตา แสดงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์และความพัสัมนธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ให้ได้รับรู้ว่าในอดีตทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างมีความสัมพันธ์กันมากเพียงใด
ระหว่างกำลังไล่สายตาดูชุดเกราะของนักรบญี่ปุ่น ดาบญี่ปุ่น หนังสัตว์และเครื่องปั้นฝีมือคนญี่ปุ่นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวนมากที่เป็นสินค้านำเข้าและส่งออกของญี่ปุ่นอยู่ หางตาก็เหลือบไปเห็นรูปภาพขนาดใหญ่ที่ถูกติดเอาไว้ที่ผนังกลางห้อง “แผนที่สันนิษฐานการเดินเรือจากญี่ปุ่นสู่อยุธยา” ฉันอ่านคำบรรยายนั้นในใจ สมกับเป็นชิ้นงานที่ได้รับความสำคัญให้จัดแสดงอยู่กลางห้อง เพราะความสมบูรณ์ของภูมิศาสตร์ สีสัน รวมถึงรายละเอียดต่างๆสวยงามอย่างกับว่าแผนที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ต้องยอมรับว่าฝีมือทางด้านศิลปะของคนญี่ปุ่นนั้นอดที่จะชมไม่ได้จริงๆ เพราะนอกจากแผนที่นี้แล้ว งานอื่นๆที่จัดแสดงก็มีความสวยงามไม่แพ้กัน