ชื่อผู้วิจัย นางวิไลลักษณ์ โคตะ
สถานที่ศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเลิงแฝก
องค์การบริหารส่วนตำบลเลิงแฝก จังหวัดมหาสารคาม
ปีที่ศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะด้านการสังเกตโดยใช้กระบวนการทางวิทยศาสตร์ ของเด็กปฐมวัยปีที่ 2/3 และประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองเด็ก ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นเด็กปฐมวัยปีที่ 2/3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเลิงแฝก องค์การบริหารส่วนตำบลเลิงแฝก อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 9 หน่วยการเรียนรู้ 2) แบบบันทึกผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 3) แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นของเด็ก และ 4) แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครอง รูปแบบที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นลักษณะของการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research) ซึ่งได้นำหลักการและขั้นตอนของวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) มาใช้ในการวิจัย โดยแบ่งเป็น 3 วงจรปฏิบัติ ได้แก่ วงจรที่ 1 ประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้ที่ 1-3 วงจรที่ 2 ประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้ที่ 4-7 และวงจรที่ 3 ประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้ที่ 7-9 การวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการนำข้อมูลมาตีความ แปลความ แล้วรายงานผลในลักษณะการบรรยาย และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยการหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตและหาค่าร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า การใช้กระบวนการทางวิทยศาสตร์ สามารถพัฒนาทักษะด้านการสังเกตโดยของเด็กปฐมวัยได้ เด็กเกิดทักษะในการสังเกตและเปรียบเทียบ การจำแนก มีค่าคะแนนสูงขึ้นทั้งสามวงจร เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลอื่น เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างองค์ความรู้ร่วมกัน อีกทั้งการนำเสนอผลงานทำให้เด็กเกิดทักษะการพูด เกิดความภาคภูมิใจในผลงาน ส่งเสริมบรรยากาศของการเรียนและการทำงานตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทำให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นในการมาเรียน เด็กรักครู เด็กรักโรงเรียนซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เด็กมีนิสัยรักการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต และผลการศึกษาด้านความพึงพอใจของผู้ปกครองเด็กต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พบว่า ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนในระดับมากที่สุดทั้งด้านเด็กและด้านครูผู้สอน